16 สิงหาคม 2566 พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/environment/1083567

พลาสติกเป็นวัสดุที่มนุษย์คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นเป็นวัสดุขึ้นรูปง่าย มีความหนาแน่นน้อย แข็งแรง ทนทาน สามารถปรับแต่งสมบัติได้ตามความต้องการและมีราคาไม่แพง จึงมีการนำมาใช้กันกว้างขวาง

แต่หากนำไปทิ้งหรือกำจัดไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อมตามมาในภายหลัง เพราะพลาสติกส่วนใหญ่ไม่ย่อยสลาย หรือย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยาก บางชนิดใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปี 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการรณรงค์ให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกสลายตัวทางชีวภาพได้ (Biodegradable plastic products and packaging) มาทดแทนเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคก็มีความสับสนระหว่างชนิดของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ซึ่งมีทั้งพลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐานและที่แอบอ้างว่าเป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ

การย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า biodegradation ซึ่งย่อมาจาก biotic degradation คำนี้มีคำจำกัดความในมาตรฐานต่างๆ ที่ใช้พื้นฐานแนวคิดเดียวกันคือ เป็นการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีต่อชิ้นวัสดุ เป็นผลให้วัสดุเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซมีเทนและน้ำ (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ)

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ คือ พลาสติกที่ถูกออกแบบมาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ เป็นสาเหตุทำให้สมบัติต่างๆ ของพลาสติกลดลงภายในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งสามารถวัดได้โดยใช้วิธีทดสอบมาตรฐานที่เหมาะสมกับชนิดของพลาสติกและการใช้งาน    

ผลการทดสอบสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีดังกล่าวต้องเกิดจากการทำงานของจุลินทรีย์ในธรรมชาติเท่านั้น (ที่มา : มาตรฐาน ISO 472:1998)

สำหรับในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัว ได้ทางชีวภาพ อ้างอิงมาตรฐานสากลของ ISO 17088 : 2008 (specification for compostable plastics) ซึ่งได้กำหนดนิยามของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น “พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือ สารพิษหลงเหลือไว้”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy