16 มีนาคม 2568 สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 2% กำลังเสี่ยงตายจากความร้อน ถ้าโลกร้อนขึ้นอีก 4 องศา อีก 7.5% อาจสูญพันธุ์

ที่มา : National Geographic (https://ngthai.com/wildlife/77073/amphibians-heat-limits/)

“ชีวิตสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย เมื่อภาวะโลกร้อนผลักดันพวกมันไปจนถึงขีดจำกัด”

งานวิจัยใหม่เผยให้เห็นว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกถูกคุกคามจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น กบ คางคก อึ่งอ่าง หรือซาลาแมนเดอร์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่พิเศษ พวกมันอยู่ได้ทั้งใต้น้ำและบนบกซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตามพวกมันต้องเงื่อนไขหนึ่งในการเอาชีวิตรอด นั่นคือ ‘ความชุ่มชื้น’ แต่ดูจะเป็นเงื่อนไขที่ยากลำบากโดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน

การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Nature ได้ศึกษาสายพันธุ์ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และระบุถึงถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษรวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสัตว์กลุ่มนี้มากกว่าเดิม “เราต้องการทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดขึ้นกกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และรวบรวมขีดจำกัดการทนทานต่อความร้อนที่ครอบคลุมที่สุดจนถึงปัจจุบัน” ดร. แพททริซ พอทเทียร์ (Patrice Pottier) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าว

แนวทางใหม่ในการประเมินความเสี่ยง โดยทั่วไปแล้ว สภาพแวดล้อมภายนอกจะเป็นปัจจัยหลักในการควบคุมความร้อนของร่างกายสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ดังนั้นเพื่อประเมินว่าสายพันธุ์ใดมีความเสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนมาก ทีมวิจัยจึงประเมินอุณหภูมิร่างกายที่สัตว์จะต้องเผชิญในแหล่งที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ในอนาคตเช่น บนบก ต้นไม้ และในน้ำ “เราใช้สถานการณ์ที่ดีที่สุดซึ่งสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจะอาศัยอยู่ในที่ร่มได้และผิวหนังยังคงเปียกอยู่ ซึ่งจะช่วยให้พวกมันรอดชีวิตจากความร้อนที่รุนแรงได้” ดร. พอทเทียร์ กล่าว

นักวิทยาศาสตร์ใช้ค่าประมาณขีดจำกัดการทนความร้อน 2,661 ค่าจาก 524 สายพันธุ์เพื่อสร้างออกมาเป็นภาพรวมข้อมูลทั้หมด และดูว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกแต่ละสายพันธุ์จะต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงจนเป็นอันตรายได้บ่อยเพียงใด (ภายใต้สถานการณ์ +2°C..ถึง +4°C)  “เราพบว่า 104 สายพันธุ์จากทั้งหมด 5,203 สายพันธุ์หรือคิดเป็นร้อยละ 2 นั้นได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในสภาพพื้นที่ร่ม และหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 4°C ก็อาจทำให้สายพันธุ์ 7.5% เผชิญกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขีดจำกัดได้” ดร. พอทเทียร์ กล่าว

นักวิจัยยังพบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุดนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าสายพันธุ์ที่อยู่ในเขตร้อนซีกโลกใต้กลับได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด ในขณะที่สายพันธุ์นอกเขตร้อนก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าสัตว์ที่อยู่ในซีกโลกเหนือ

นอกจากนี้ยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้พื้นที่ที่อยู่อาศัยได้สำหรับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกลดน้อยลง ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์มากขึ้นไปอีกและยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร การควบคุมแมลง และความหลากหลายทางพันธุกรรมโดยรวมของพื้นที่

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy