16 มีนาคม 2566 กิน “หญ้าหวาน” ไม่อ้วน! แถมรักษ์โลก เพราะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำตาลทราย 29%

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1057799
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยนี้ผู้คนใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสรรหาอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือหาตัวช่วยที่ดีกว่าเอามาทดแทนสิ่งเดิม อย่างการใช้ “หญ้าหวาน” แทนการใช้น้ำตาลทรายในการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงจากการบริโภคน้ำตาลสูงจนเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ เช่น เบาหวาน เป็นต้น
ทั้งนี้ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในท้องตลาดมีหลายชนิด แต่หากต้องการสารให้ความหวานที่กินแล้วปลอดภัยที่สุด แถมแคลอรีต่ำ คงหนีไม่พ้น “หญ้าหวาน” นอกจากกินแล้วไม่อ้วน ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะกระบวนการผลิตหญ้าหวานปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าน้ำตาลทรายถึง 29%
กินหวานแบบรักษ์โลก เลือก “หญ้าหวาน” แทนน้ำตาลทราย
ไม่นานมานี้ มีงานวิจัยใหม่จาก University of Surrey เมืองกิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า สารสกัดจากหญ้าหวาน เป็นที่รู้จักว่าสามารถให้รสชาติหวานในระดับเดียวกับน้ำตาล แต่มีแคลอรีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย หญ้าหวานเป็นพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ใช้พื้นที่ในการปลูกน้อยกว่า ใช้น้ำน้อยกว่า และใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าอ้อยหรือข้าวโพด
สารสกัดจากหญ้าหวานผ่านกระบวนการน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการนำอ้อยไปผ่านกระบวนการการผลิตจนออกมาเป็นน้ำตาลทราย อีกทั้งมีข้อมูลจาก Pure Circle ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหญ้าหวานรายใหญ่ที่สุด พบว่า กระบวนกการผลิตสารสกัดหญ้าหวานนั้น ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่าการผลิตน้ำเชื่อมข้าวโพดถึง 79% น้อยกว่าการผลิตน้ำตาลหัวบีท 55% และน้อยกว่าการผลิตน้ำตาลทราย 29% ต่อหน่วยความหวาน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากบริษัทคาร์กิลล์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวานหลายชนิด พบว่าการทำไร่หญ้าหวานมีคะแนนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลชนิดอื่นๆ ทั้งในแง่ของการใช้ที่ดินทำการเกษตร ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียโอโซน และความเป็นพิษต่อระบบนิเวศ
ทีมนักวิจัยยังระบุอีกว่า การผลิต “สตีวิออลไกลโคไซด์” ที่เป็นสารสกัดจากหญ้าหวานนั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ น้อยกว่า เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทราย โดยมีการประเมินด้วยว่าการใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลทรายในครัวเรือน อาจมีส่วนช่วยลดการใช้ที่ดินเกษตรกรรมและการใช้น้ำในวงจรของอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลได้