16 มิถุนายน 2566 PIER Research ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด?

ที่มา :https://thaipublica.org/2023/06/pier-research-climate-adaptation-financing
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดบรรยายสรุป PIER Research Brief ครั้งที่ 2/2566 เรื่อง “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ได้ แล้วต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด? ” โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และมีนายสุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำเนินรายการ
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate) และการใช้กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัว เนื่องจากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบของพายุ น้ำท่วม หรือภัยแล้งที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประชากร และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยให้ตัวอย่างการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินในต่างประเทศ พร้อมเสนอแนะแนวทางดำเนินการต่อไปสำหรับประเทศไทย งานวิจัยนี้ได้ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฉายภาพให้เห็นว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยเศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายกว่า 7,719 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.82% ของ GDP ในช่วงปี ค.ศ. 2000-2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร และหากประเทศไทยไม่เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง สภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุรุนแรง อุณหภูมิสุดขั้ว จะยิ่งมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อภาคส่วนต่าง ๆ และเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ งานศึกษาของ Swiss Re Institute (2021) ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวถึง 4.9 – 43.6%