16 พฤศจิกายน 2567 บทความ ก.ล.ต. “ความหลากหลายทางชีวภาพ” โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ

บทความ ก.ล.ต. “ความหลากหลายทางชีวภาพ” โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ

ที่มา : Infoquest (https://www.infoquest.co.th/2024/445640)

ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ”

ปัจจุบันวิกฤติทางธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดยข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) เปิดเผยว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณมูลค่าเทียบได้กับครึ่งหนึ่งของมูลค่า GDP ทั้งโลก ขึ้นอยู่กับการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งตัวเลขนี้ช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจจะต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็สามารถมองหาโอกาสและปรับตัวเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ ในการประกอบธุรกิจต้องมีการพึ่งพาธรรมชาติทั้งสิ้น ทั้งทรัพยากรที่ได้จากธรรมชาติที่ระบบนิเวศเป็นผู้ให้แหล่งผลิต และบริการจากระบบนิเวศ (ecosystem services) ด้านอื่น ๆ เช่น การควบคุมอุณหภูมิจากผืนป่า การกรองน้ำและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากป่าชายเลน การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการ เป็นต้น โดยการรักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงของระบบนิเวศนั้น ต้องอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้น ธุรกิจจึงพึ่งพาธรรมชาติไม่ว่าทั้งในทางตรงหรือผ่านทางห่วงโซ่อุปทานมากน้อยต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ โดยจากรายงานของ MSCI ระบุว่า ธุรกิจที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและมีความเสี่ยงสูงจากความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ ธุรกิจเกษตร ประมง อาหารและเครื่องดื่ม ป่าไม้ การผลิตความร้อน ธุรกิจก่อสร้าง และการผลิตไฟฟ้า ขณะที่บางธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเงิน แม้ว่าจะมีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับน้อย แต่กลับมีบทบาทสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมาก อาทิ การให้สินเชื่อและการลงทุนในกิจการที่ไม่มี
การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ข้อมูลจากรายงานที่ชื่อ Nature at a Tipping Point ที่จัดทำโดย Asia Investor Group on Climate Change ร่วมกับ PWC แสดงให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับสูง และเมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 61 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market..cap)..มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในระดับสูงและปานกลาง ซึ่งสัดส่วนการพึ่งพาในระดับนี้สะท้อนว่า ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในธรรมชาติซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพด้วยนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากความสัมพันธ์ในเชิงของการพึ่งพาแล้ว ในการดำเนินธุรกิจอาจมีกิจกรรมที่ส่งผลเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้ ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของธุรกิจโดยตรง หรือเกิดในห่วงโซ่อุปทานก็ได้เช่นกัน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy