16 พฤศจิกายน 2565 ‘คลองสำโรง จ.สงขลา’ จากคลองเน่าเหม็น-ชุมชนแออัด ก้าวย่างสู่การฟื้นฟู “คลองสวย-น้ำใส-ไร้ขยะ-ชุมชนมีสุข”

คลองสำโรง ตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา มีความยาวเพียง 5 กิโลเมตรเศษ มีความกว้างประมาณ 40-50 เมตร แต่มีความสำคัญกับชาวสงขลามาแต่อดีต เพราะเป็นลำคลองที่เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา ทำให้เกิดการหมุนเวียนระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศน์ มีกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงผู้คนมาเนิ่นนาน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางเดินเรือเชื่อมสองฝากฝั่งน้ำ…เป็นที่หลบลมมรสุม…
ทว่าวันนี้คลองสำโรงเหมือนคนป่วยหนัก น้ำในคลองมีสีดำ เน่าเหม็น สัตว์น้ำหนีหาย คลองกลายเป็นท่อระบายรองรับน้ำโสโครกและขยะ ลำคลองตื้นเขิน…ไม่ต้องกล่าวถึงการเดินเรือในคลอง แม้แต่เรือพายลำเล็กๆ ยังไปไม่รอดตลอดคลอง เพราะมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ กีดขวางลำคลอง
จากเอกสาร ‘การวิเคราะห์หาสารโลหะหนักในน้ำคลองสำโรง’ (THE DETERMINATION OF HEAVY METALS IN THE WATER FROM SUMRONG CANAL) โดยประดิษฐ์ มีสุข ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ โดยการเก็บน้ำตัวอย่างจากปากคลองสำโรงและปากระวะเก้าเส้ง (ปากระวะ คือบริเวณที่คลองเชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย) เมื่อเดือนมีนาคม 2534 เพื่อนำน้ำตัวอย่างมาวิเคราะห์หาปริมาณสารโลหะหนัก 5 ชนิด คือ ปรอท ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี และแมงกานีส
ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณทองแดง ตะกั่ว และปรอท เกินค่ามาตรฐาน ส่วนสังกะสี และแมงกานีสยังไม่เกินคุณภาพมาตรฐาน ทั้งนี้ผู้วิจัยได้อ้างอิงค่ามาตรฐานน้ำทะเลสาบสงขลาว่า ควรมีปริมาณโลหะหนักไม่เกินดังนี้ ปรอท 0.001 ppm ทองแดง 0.005 ppm ตะกั่ว 0.01 ppm สังกะสี 1 ppm และแมงกานีส 1 ppm
การศึกษาวิจัยดังกล่าวได้ระบุว่า …โลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี และแมงกานีส เป็นธาตุที่สะสมในร่างกาย ถ้าร่างกายได้รับธาตุโลหะดังกล่าวจากสิ่งแวดล้อมสะสมจนถึงขนาดหนึ่ง จะทำให้เกิดโรคพิษโลหะหนักดังกล่าวได้…
นอกจากนี้ยังระบุว่า …คลองสำโรงมีสภาพน้ำเสียราวสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากการรับน้ำเสียจากชุมชนใหญ่ในตัวเมืองสงขลา การรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ตั้งอยู่ริมคลองจำนวนกว่าสิบโรงงาน และรับของเสียจากชุมชนริมคลองสำโรง ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว (ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 5,000 คน)
ผู้วิจัยมีข้อเสนอว่า…ปริมาณธาตุทองแดง ตะกั่ว และปรอท จากน้ำคลองสำโรงเกินกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลสาบสงขลา ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนปริมาณธาตุสังกะสีและแมงกานีส ยังไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ก็ควรได้รับการตรวจสอบปริมาณอยู่เสมอ