16 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มปิดอ่าว 3 เดือน ประมงห่วงปลาทู ห้ามจับแนวชายฝั่ง

ที่มา : https://www.naewna.com/local/473276

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตร กล่าวขณะเป็นประธานในพิธีประกาศประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทยตอนกลางประจำปี 2563 ที่ท่าเรือองค์การสะพานปลาปากน้ำชุมพร ต. ปากน้ำ อ. เมือง จ. ชุมพร ว่า มาตรการนี้กรมประมงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. 2563 โดยจะปิดอ่าวไทยในเขตพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ซึ่งแนวทางดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญอย่างมากเพราะจะช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนที่กระทรวงเกษตรฯ

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กรมประมงรายงานผลศึกษาวิจัยพบว่า มาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู โดยหลายปีที่ผ่านมาจัดเก็บข้อมูลทางวิชาการมีสถิติจำนวนสัตว์น้ำในกลุ่มปลาทูลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันในอดีต โดยมาจากหลายปัจจัยทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ความต้องการของผู้บริโภค และมีเรือประมงบางส่วนที่ใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ แม้จะมีมาตรการปิดอ่าว แต่ยังมีการลักลอบทำประมงตามแนวชายฝั่งซึ่งเป็นที่สัตว์น้ำมาเพาะพันธุ์ วางไข่ และเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำวัยอ่อน จึงได้ปรับปรุงกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้เข้มงวดขึ้น พร้อมทั้งมีมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (IUU) ทำให้จำนวนประชากรสัตว์น้ำเริ่มฟื้นฟูกลับคืนมา

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวไม่กระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมงมากนัก และยังกำหนดให้หลังเปิดอ่าวตอนกลางให้ปิดอ่าวต่อที่เขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบคีรีขันธ์อีก 30 วัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 หลังจากเปิดอ่าว เรืออวนล้อมจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น 114,056 ตัน เฉพาะพันธุ์ปลาทูเดือน มิ.ย.จับได้ 578 ตัน เพิ่มเป็น 1,880 ตันในเดือน ก.ค.

“หากชาวประมงปฏิบัติตามมาตรการปิดอ่าวอย่างเคร่งครัด ใช้เครื่องมือประมงที่กำหนดเท่านั้นจับสัตว์น้ำตามชายฝั่งในช่วงปิดอ่าว จะฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งลดลงอย่างน่าเป็นห่วงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน” นายมีศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy