15 มิถุนายน 2565 การศึกษาชี้ มลพิษ ในเมืองหลวงอินเดีย ทำให้คนมีอายุสั้นเกือบ 10 ปี

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_7110685

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 บีบีซี รายงานว่าการศึกษาโดยดัชนีชีวิตคุณภาพอากาศ (Air Quality Life Index) โดยสถาบันวิจัยนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโลก สหรัฐอเมริกา (EPIC) ระบุว่ามลพิษสามารถทำให้ชีวิตสั้นลงเกือบ 10 ปี ในกรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก และเสริมว่าอายุคาดเฉลี่ยของชาวอินเดียทั้งประเทศจะสั้นลง 5 ปีที่ระดับคุณภาพอากาศในปัจจุบัน ประชากร 1,300 ล้านคนของอินเดียอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ระดับมลพิษอนุภาคเฉลี่ยต่อปีเกินขีดจำกัดความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 5µg/m³ (5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และอากาศไม่ดีคร่าชีวิตนับล้านในอินเดียทุกปี อากาศที่เต็มไปด้วยหมอกควันมักจะปกคลุมเมืองต่าง ๆ ของอินเดียในช่วงฤดูหนาว มีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายอย่าง PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถอุดตันปอดและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ EPIC ระบุว่ามลพิษนี้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมากกว่าการสูบบุหรี่ รายงานระบุว่าการเพิ่มขึ้นในมลพิษทางอากาศตลอด 20 ปีที่ผ่านมาในอินเดียมีสาเหตุหลักมาจากอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนยานพาหนะบนถนนของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณสี่เท่า รัฐบาลอินเดียมีความพยายามในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศโดยโครงการอากาศสะอาดแห่งชาติ (National Clean Air – NCAP) มีเป้าหมายเพื่อลดฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายลง 20 ถึง 30% และเสริมว่าการลดมลพิษลง 25% จะทำให้อายุคาดเฉลี่ยของประเทศเพิ่มขึ้น 1.4 ปี และเพิ่มขึ้น 2.6 ปีสำหรับผู้อยู่อาศัยในกรุงเดลี

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy