15 มิถุนายน 2563 กรมชลประเทานเสริมทัพป้องน้ำท่วม กทม.

ที่มา:

https://www.dailynews.co.th/politics/779821

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานเน้นการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครและกรมทางหลวง  โดยกรมชลประทานจะมองภาพใหญ่ในการจัดจราจรทางน้ำด้วยการกักน้ำ หน่วงน้ำ และระบายน้ำ ปกป้องมิให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยกรมชลประทานจะผันน้ำใน ๒ ด้าน คือ ด้านซ้ายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผันน้ำ ๒๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ ๑๖ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผ่านคลองชัยนาท – ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตออกคลองชายทะเล ตามแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จุน้ำราว ๓ ล้านลูกบาศก์เมตร มีสถานีสูบน้ำ ๑๑๑เครื่องตามแนวทะเลได้ ๓๖ ล้านลูกบาศก์เมตร เช่น สถานีสุวรรณภูมิ สูบได้ถึงวันละ ๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการผันออกทางด้านขวาหรือฝั่งตะวันตก จากเขื่อนเจ้าพระยามีแม่น้ำท่าจีน ผ่านจากประตูพลเทพมาที่ประตูท่าโบสถ์ ผันออกไปทาง จ. สมุทรสาครผ่านโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย – คลองสนามชัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถตัดยอดน้ำไปรองรับน้ำได้ประมาณ ๖ ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วสูบน้ำออกอ่าวไทย มีสถานีสูบออกวันละ ๑๔ ล้านลูกบาศก์เมตร และออกทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ๑๕ ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งออกแม่น้ำท่าจีน ๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมฝั่งตะวันตกระบายได้ ๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนน้ำที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ มีคันกั้นน้ำสูง ๒.๕ – ๓ ม. สิ่งสำคัญที่จะคุมให้น้ำผ่านกรุงเทพไม่เกิน ๓.๕ พัน ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปิดประตูน้ำ ๑๓ แห่งที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ในการระบายน้ำที่สำคัญ ใช้ประตูคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตัดช่วงคลองกระเพาะหมู ทำให้ย่นระยะเวลาการไหลของน้ำ ๕ – ๖ ชม. มาช่วยบริหารจัดการน้ำ เร่งระบายทางปลายแม่น้ำเจ้าพระยาได้รวดเร็วขึ้น กรมชลประทานยังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงและระบายน้ำช้า โดยทำงานร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร  และเร่งกำจัดวัชพืชเพื่อเปิดทางน้ำให้ระบายได้เร็วขึ้น แต่ไม่ระบายน้ำทิ้งทั้งหมด เพราะต้องเก็บบางส่วนไว้ ตามนโยบายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. เกษตรและสหกรณ์ ในการเก็บกักน้ำเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ให้มีน้ำเพียงพอจัดสรรเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก และใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพ กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy