14 กุมภาพันธ์ 2565 ทีมวิจัยพบโคพีพอดน้ำจืด 2 ชนิดใหม่ของโลก

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2315365
ดร. กรอร วงษ์กําแหง ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมกับ ผศ.ดร.ศุจีภรณ์ อธิบาย จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.ชายฉัตร บุญญานุสิทธิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ค้นพบโคพีพอดน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกจำนวน 2 ชนิด โดยโคพีพอด เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก อยู่ในกลุ่มครัสเตเชีย (Crustacea) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ล่องลอยอยู่ในน้ำ ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-2.0 มม. พบทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ล่า และกลุ่มที่กินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร มีความสำคัญคือ เป็นอาหารหลักให้กับสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลา กุ้ง เป็นต้น มีทั้งกลุ่มที่อาศัยในน้ำจืด และน้ำเค็ม ได้ทั้งแหล่งน้ำถาวร แหล่งน้ำชั่วคราว แหล่งน้ำนิ่ง หรือน้ำไหล
ในการค้นพบครั้งนี้เป็นโคพีพอดน้ำจืดที่พบในแอ่งน้ำนิ่งในสระน้ำ และแหล่งน้ำขนาดเล็กในถ้ำ โคพีพอดที่ค้นพบ 2 ชนิด ได้แก่ 1. โคพีพอดชนิด Metacyclops sakaeratensis sp. nov. พบที่แหล่งน้ำ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โคพีพอดชนิดนี้ว่า sakaeratensis ตามถิ่นที่พบ คือ พื้นที่สะแกราช 2 .โคพีพอดถ้ำ ชนิด Metacyclops brancelji sp. nov. พบที่ถ้ำระฆังทองและถ้ำภูผาเพชร อ.มะนัง จ.สตูล และถ้ำเขานุ้ย จ.สงขลา โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ชนิดนี้ว่า brancelji เพื่อเป็นเกียรติแก่ Prof. Dr. Anton Brancelj ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาโคพีพอดของโลกจากประเทศสโลวีเนีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการศึกษาโคพีพอดถ้ำของประเทศไทย สำหรับงานวิจัยเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Taxonomy เมื่อเดือน ม.ค. 2565 แล้ว