14 กรกฎาคม 2567 กรมประมง เดินหน้างานวิจัยพันธุกรรม ทำหมันปลาหมอคางดำ

กรมประมง เดินหน้างานวิจัยพันธุกรรม ทำหมันปลาหมอคางดำ

ที่มา: https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2799859

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงาน Kick off “โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายอาคม ชุ่มธิ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ และหัวหน้าหน่วยงานกรมประมงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจของภาคการประมง และในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย

จากปัญหาดังกล่าว ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญ และมีข้อสั่งการให้กรมประมงเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติ ผ่าน 5 มาตรการสำคัญ ดังนี้

  1. การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด
  2. การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  3. เป็นการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์
  4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ
  5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน

  อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการวิจัย เรื่อง การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ กรมประมงได้มีแนวทางในการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้ จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy