14 เมษายน 2560 ชะลูดจันดี…ใกล้สูญพันธุ์

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/1819491
สำนักหอพรรณไม้ สํานักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชประเมินสถานภาพของพืชที่ถูกคุกคามและใกล้จะสูญพันธุ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว และอุทยานแห่งชาติภูลังกา จ. บึงกาฬ พบชะลูดจันดี เป็นไม้เถายาวได้ถึง ๑๒ ม. ทุกส่วนมียางขาว เปลือกลำต้นแก่ คอกิ่งอ่อน มีช่องอากาศ ใบเดี่ยวเรียงรอบข้อ ๓ ใบ หรือเรียงตรงกันข้าม รูปรี กว้าง ๒ – ๔.๖ ซม. ยาว ๕.๕ – ๑๐.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปร่ม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบยาว ๐.๖ – ๑ ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนออกตามปลายกิ่ง ยาว ๓.๕ – ๑๔ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๓ – ๐.๔ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๐.๖ – ๑ มม. ยาว ๑.๖ – ๒.๕ มม. กลีบดอกด้านนอกสีแดงเข้ม ด้านในสีขาว หลอดกลีบดอกยาว ๑.๒ – ๑.๖ มม. แฉกกลีบดอกรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๐.๓ – ๐.๕ ซม. ยาว ๑.๒ – ๑.๘ ซม. เรียงซ้อนทับกัน เกสรเพศผู้ติดในหลอดกลีบดอก ก้านเกสรสั้น รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว ๑ – ๓.๕ ซม. รวมยอดเกสร ผลเป็นฝักคู่ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ผิวผลมีช่องอากาศ เมล็ดแบนรวมปีกทั้งสองข้าง มีความยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือน พ.ค. – ส.ค. การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย พบในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้นที่มีความสูง ๒๐๐ – ๗๔๐ ม.เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ. เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ปัจจัยการคุกคามเกิดจากถิ่นอาศัยในป่าถูกแผ้วถาง ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม จัดเป็นพืชชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย การประเมินสถานภาพตามเกณฑ์ IUCN อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง