13 มีนาคม 2565 พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก “นวลสันติสุข”

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/851514/
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.สมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืช (นักวิทยาศาสตร์) สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นพบและร่วมกันตั้งชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (new species) ชื่อไทย “นวลสันติสุข” ซึ่งเก็บตัวอย่างบริเวณป่าดงนาทาม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 420 ม.
นวลสันติสุขเป็นไม้ต้นไม้ผลัดใบ สูง 5–18 ม. กิ่งเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากตามแนวนอนเป็นสี่เหลี่ยม เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลอมเทาถึงสีน้ำตาลเข้ม เปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน มีน้ำยางสีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบที่ใบร่วงแล้ว ดอกบานมีกลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ดอกเพศผู้ส่วนมากเป็นช่อดอกแบบช่อกระจุก แต่ละกระจุกมี 3–5 ดอก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อดอกแบบช่อกระจุก แต่ละกระจุกมี 3–5 ดอก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน เกสรเพศเมียรูปเห็ด รังไข่สีเขียวรูปทรงค่อนข้างกลม แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียสีเหลืองอ่อน รูปครึ่งทรงกลม
นวลสันติสุข มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศทางภาคตะวันออก พบตามป่าดิบแล้ง (บริเวณป่าดงนาทาม) และป่าเต็งรังบนหินทราย (บริเวณผาชะนะได) อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 400 ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศคาดว่าพบที่ลาว