13 ตุลาคม 2567 ภาวะวิกฤตพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

ที่มา https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/detail/69841
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยเพียง 7.8 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับมหานครอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเช่น โตเกียว (38 ตร.ม./คน), สิงคโปร์(66 ตร.ม./คน) กรุงเทพมหานครยังมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวอยู่ในระดับต่ำที่สุด โดยคิดเป็นเพียง 2.7% ของพื้นที่ทั้งหมด
ปัญหาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร มิใช่เรื่องใหม่ แต่กลับทวีความรุนแรงขึ้นตามการขยายตัวของเมือง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการร่วมกันกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเดิม และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวอย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างจิตสำนึก และความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียว นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดูแลรักษา และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เช่น การปลูกต้นไม้ในที่พักอาศัย การสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และการเลือกใช้บริการ หรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร มิใช่เพียงการเพิ่มจำนวนต้นไม้ หรือพื้นที่สีเขียวในเชิงปริมาณ หากแต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ การกระจายตัว และการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้พื้นที่สีเขียว เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน ที่เอื้อต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคม ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขอย่างแท้จริง