13 กุมภาพันธ์ 2563 ซากเต่าดึกดำบรรพ์รอดจากสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1770068
เต่าทุกสายพันธุ์ในทุกวันนี้เป็นลูกหลานของ 2 สายพันธุ์ที่แยกกัน ช่วงยุคจูราสสิกมากกว่า 160 ล้านปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นมีเต่าชนิดดั้งเดิมหลายกลุ่มดำรงอยู่มาก่อนที่จะถึงช่วง
วิวัฒนาการ หลังจากการศึกษา 10 ปี นักบรรพชีวินวิทยาจากกลุ่มชีววิทยาวิวัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยการศึกษาทางไกลแห่งชาติ ในประเทศสเปนยืนยันแล้วว่าในซีกโลกเหนือที่เคยเป็นทวีปโบราณที่ชื่อว่าลอเรเซีย มีเต่าโบราณรอดชีวิตจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในปลายยุคครีเตเชียส ประมาณ 66 ล้านปีที่แล้ว
นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า Laurasichersis relicta คือเต่าบกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซากกระดองของมันมีความยาว 60 เซนติเมตร แต่การปรากฏตัวซากฟอสซิลของ Laurasichersis relicta ในแหล่งขุดค้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่าเผ่าพันธุ์เต่าดั้งเดิมนี้รอดชีวิตจากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่กวาดล้างไดโนเสาร์ ในมหาทวีปลอเรเซีย
นักบรรพชีวินวิทยาเผยอีกว่า Laurasichersis relicta คือ เต่าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่มีความสอดคล้องกับลักษณะทางกายวิภาครูปแบบใหม่ กระดองดูแปลกประหลาด ซึ่งเชื้อสายวิวัฒนาการมาอย่างอิสระจากเต่ายุคมหาทวีปกอนด์วานา ที่แยกจากกันเมื่อ 100 ล้านปีก่อน ผลกระทบจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซในวงกว้าง วัตถุเกิดการหลอมเหลว และมีฝนกรด ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นฉับพลัน และเปลี่ยนภูมิทัศน์ที่เต่าอาศัยอยู่.