12 สิงหาคม 2564 ‘นกกะลิงเขียดหางหนาม’ พบแห่งเดียวในผืนป่าแก่งกระจาน

ที่มา : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000079179
เพจเฟซบุ๊ค สมาคมอนุรักษ์นก Bird Conservation Society of Thailand (BCST) บรรยายไว้ว่า ไม่ใช่เขียดไม่ใช่ลิง ถ้าอยากเจอตัวจริงมา “พะเนินทุ่ง” ย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ. 2532 คงไม่มีข่าวไหนที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดูนกเมืองไทยเท่ากับการค้นพบ “นกกะลิงเขียดหางหนาม (Ratchet-tailed Treepie)” ครั้งแรกในประเทศไทยที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยคุณพินิจ แสงแก้ว
ณ เวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดว่านกกะลิงเขียดหางหนาม ซึ่งในตอนนั้นเป็นนกประจำถิ่นที่ทำรังวางไข่บนเกาะไหหลำ ตอนกลางของลาว และเวียดนาม จู่ๆ จะมาอาศัยอยู่ที่ป่าแก่งกระจาน เพราะระยะทางระหว่างป่าแก่งกระจาน กับ ลาว เวียดนามมันห่างกันเกือบหนึ่งพันกิโลเมตรเลยทีเดียว
แต่ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพิสูจน์เรื่องราวที่แสนมหัศจรรย์ของวงการปักษีวิทยาเรื่องนี้ แนะนำให้ไปดูนกที่เขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีรายงานพบเห็น “นกกะลิงเขียดหางหนาม” ได้เป็นประจำ
“นกกะลิงเขียดหางหนาม” ถ้าลองสังเกตถึงลักษณะสวยงามที่เด่นชัด อยู่ตรงที่มีขนแหลมยื่นออกมาจากด้านข้างของขนหางทุกเส้น เรียงลดหลั่นกันมองคล้ายหนามยาว ขนปกคลุมสีดำสนิทตลอดทั้งตัว พฤติกรรมมักพบตามลำพังหรือเป็นคู่ บางครั้งอาจพบเป็นกลุ่มเล็กๆ
นกกะลิงเขียดหางหนาม ถูกค้นพบครั้งแรกที่ผืนป่าแก่งกระจาน เมื่อปี 2533 ถือเป็นนกชนิดใหม่ของไทยและของโลกพบได้เพียงแห่งเดียวที่ผืนป่าแก่งกระจานเท่านั้น ซึ่งคงอาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาจนถึงทุกวันนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูนก ด้วยเหตุผลจากอากาศแจ่มใสค่อนข้างสม่ำเสมอ