12 มีนาคม 2563 รายงานพิเศษ : จ. พิจิตรสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำยม แก้ภัยแล้ง

ที่มา: https://www.naewna.com/local/478699

เป็นประจำทุกปีหลังหมดฤดูน้ำหลาก แม่น้ำยม ต้องตกอยู่ในสภาพแห้งขอด จนเห็นพื้นทราย ในท้องแม่น้ำ ตลอดของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่ จ. พิจิตร ตลอดระยะทางกว่า 124 กิโลเมตร ต้องเกิดภัยแล้งตลอดลำน้ำ ของแม่น้ำยมส่งผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกร สัตว์เลี้ยง และระบบนิเวศในแม่น้ำ ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องจากแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนใหญ่ หรือประตูระบายน้ำบังคับ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ สิ่งปลูกสร้าง หรือประตูระบายน้ำ เป็นสิ่งก่อสร้างในบริเวณทางน้ำที่ใช้ควบคุมการไหลของน้ำในแม่น้ำยม ที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนเกษตรกรในพื้นที่ จ. พิจิตร อยากให้หน่วยงานรัฐบาลสร้างเขื่อนขนาดกลาง หรือประตูระบายน้ำ เพื่อทำการกักเก็บน้ำในแม่น้ำยม แก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน  เพื่อให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านกักเก็บไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง เพื่อให้ในการอุปโภค ผลิตน้ำประปาบริโภค รวมถึงการใช้น้ำทำการเกษตร ซึ่งในทุกปีแม่น้ำยมจะแห้งขอดลงเป็นประจำทุกปี

นายสงบ สังวร ชาวบ้าน ต. วังจิก อ. โพธิ์ประทับช้าง จ. พิจิตร กล่าวว่า “แม่น้ำยมในปีนี้แห้งเร็วกว่าทุกปีโดยแห้งตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านเกือบทั้งหมด ตลอดแม่น้ำยมเป็นเกษตรกร ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนาข้าว ซึ่งแม่น้ำยมมีส่วนสำคัญ และเป็นแหล่งน้ำหลักของการทำนา รวมถึงน้ำใช้ในการอุปโภค และระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งหลังมีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีตกั้นขวางแม่น้ำยม ก็ยิ่งมีความสำคัญ ที่ชาวบ้านและเกษตรกรอยากจะได้ เพื่อช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ ในช่วงหน้าแล้งได้”

นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ในฐานะผู้ประสานเสนอโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำยม โดยมีกรมชลประทาน และสำนักงานชลประทานที่ 3 จ. พิษณุโลก ดำเนินการโครงการก่อสร้าง โดยออกแบบการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านท่าแห ต. กำแพงดิน อ. สามง่าม จ. พิจิตร ซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำยม เป็นอาคารคอนกรีต 4 ช่องระบายน้ำ ครอบคลุมประโยชน์กว่า 10,000 ไร่ ใน 7 ตำบล 2 อำเภอ ในพื้นที่ จ. พิษณุโลก และ จ. พิจิตร และประตูระบายน้ำบ้านวังจิก อ. โพธิ์ประทับช้าง จ. พิจิตร ซึ่งเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีต 5 ช่องระบายน้ำ ครอบคลุมประโยชน์ กว่า 37,000 ไร่ ในพื้นที่ 8 ตำบล ของ อ. สามง่าม และ อ. โพธิ์ประทับช้าง จ. พิจิตร ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จ ในปี 2565 ซึ่งหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเกิดประโยชน์กับชาวบ้าน และเกษตรที่ใช้แม่น้ำยม เป็นแหล่งน้ำต้นทุน

นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตรกล่าวว่า “ประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง หากมีการดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์กับชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ จ. พิษณุโลก และ จ. พิจิตร ในการเก็บกักน้ำ ซึ่งหากมีการดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 3 แห่ง ให้ครบ 5 แห่ง ทำการกั้นแม่น้ำยมตลอดสาย ในระยะทาง 124 กิโลเมตร ที่ดำเนินการบริหารจัดการควบคู่ไปกับการผันน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากไหลลงแหล่งแก้มลิงกักเก็บน้ำ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาแม่น้ำยมในช่วงหน้าแล้งได้อย่างยั่งยืน”

โครงการประตูระบายน้ำท่าแห บ้านท่าแห ต. กำแพงดิน อ. สามง่าม จ. พิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายชนิดบานตรง มีช่องระบายน้ำ กว้าง 10 เมตร สูง 9 เมตร จำนวน 4 ช่อง งบประมาณ 350 ล้านบาท สามารถเก็บกักน้ำเหนือประตูระบายน้ำในลำน้ำยม และลำน้ำสาขาที่อยู่ในระยะทดน้ำ ได้ความจุประมาณ 16.75 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำให้ราษฎรสามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืช โดยการสูบน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรโดยตรง ซึ่งพื้นที่รับประโยชน์กว่า 10,000 ไร่ 

ประตูระบายน้ำบ้านวังจิก อ. โพธิ์ประทับช้าง จ. พิจิตร ขนาดความสูง 13 เมตร ยาว 72.5 เมตร ช่องระบายน้ำจำนวน 5 ช่อง สันเขื่อนเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร งบประมาณในการก่อสร้าง 231 ล้านบาท หลังแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้จำนวน 4.1 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 37,000 ไร่ สำหรับการดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2565 ซึ่งมีความคืบหน้าของการก่อสร้างเกือบร้อยละ 20

ถือว่าประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่ง นับว่าเป็นต้นแบบการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม พร้อมเสนอโครงการก่อสร้าง เพิ่มอีก 3 แห่ง ให้ครบ 5 แห่ง ตลอดระยะทาง 124 กิโลเมตร ของแม่น้ำยมไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ ของ จ. พิจิตร ได้แก่ อ. สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และโพทะเล เพื่อกักเก็บน้ำ และคืนระบบนิเวศในแม่น้ำยมกลับคืนมา

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy