11 เมษายน 2566 คลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ก้าวหน้าอีกขั้น สผ. จับมือ ม.บูรพา ขยายเก็บข้อมูลทางทะเล

คลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ก้าวหน้าอีกขั้น สผ. จับมือ ม.บูรพา ขยายเก็บข้อมูลทางทะเล

ที่มา : mcot.net  (https://www.mcot.net/view/MkMaQqD3

11 เม.ย.66 – คลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ก้าวหน้าอีกขั้น สผ. จับมือ 
ม.บูรพา ขยายเก็บข้อมูลทางทะเลเกิดความสมบูรณ์และความถูกต้องเป็นปัจจุบันของข้อมูล
ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล

         สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. และ มหาวิทยาลัยบูรพา ลงนามบันทึกความเข้าใจและบันทึกข้อตกลงการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. รองศาสตราจารย์ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) และบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement: MOA) การจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ณ หอประชุมทวี  หอมชง สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

            ดร.พิรุณ  สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า การลงนาม MOU และ MOA ระหว่าง สผ.  และมหาวิทยาลัยบูรพา มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (TH-BIF)  ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ให้ครอบคลุมและตอบโจทย์การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ซึ่งรวมถึงข้อมูลสิ่งมีชีวิตทางทะเลของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ศูนย์เรียนรู้โลกใต้ทะเลบางแสน จากสถาบันวิทยาศาสตร์
ทางทะเล และข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2571) โดยการเชื่อมต่อข้อมูลดังกล่าวจะช่วยเติมเต็มให้เกิดความสมบูรณ์ของข้อมูลสิ่งมีชีวิตทางทะเล และเสริมบทบาทของ TH-BIF ที่เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และจากความร่วมมือดังกล่าว ส่งผลให้ สผ. มีการลงนาม MOU การจัดทำระบบคลังข้อมูลฯ กับหน่วยงานหลักที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว 21 หน่วยงาน จากเป้าหมายทั้งหมด 32 หน่วยงาน ความร่วมมือในการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกัน ระหว่าง สผ.  และมหาวิทยาลัยบูรพา ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความสมบูรณ์และความถูกต้องเป็นปัจจุบันของข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลแล้ว ยังเป็นการขยายผลการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือพื้นที่อื่นที่มหาวิทยาลัยมีการดำเนินโครงการวิจัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy