11 มีนาคม 2564 สำรวจฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยในแอ่งชิกชูลูบ

ที่มา:

https://www.thairath.co.th/news/society/2047616

สิ่งมีชีวิตอย่างไดโนเสาร์สูญพันธุ์ หรือตายไปจากการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยเมื่อ ๖๖ ล้านปีก่อน เป็นสมมติฐานแรกๆ ที่นิยมมาตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ เรียกว่า มากกว่าสมมติฐานอื่นๆ เช่น มาจากการปะทุของภูเขาไฟ หรือภัยพิบัติระดับโลกหลายๆ รูปแบบ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานถึงภารกิจโครงการ International Ocean Discovery Program ๒๐๑๖ ที่รวบรวมแกนหินเกือบ ๑,๐๐๐ ม. จากแอ่งอุกกาบาตชิกชูลูบ (Chicxulub crater) ที่เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตทางตอนใต้ของคาบสมุทรยูคาทันในประเทศเม็กซิโก ปัจจุบันแอ่งนี้ฝังอยู่ใต้ทะเล ซึ่งค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญนั่นคือ ฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยภายในแอ่งอุกกาบาตชิกชูลูบ ทำให้ทีมปะติดปะต่อภาพในอดีตได้ว่า ฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยที่มาจากการปะทะชน ฟุ้งกระจายไปรอบโลกจนปิดกั้นแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตล้มตายจาก โลกเข้าสู่ฤดูหนาวที่มืดมิดยาวนาน ก่อนอนุภาคฝุ่นเหล่านั้นจะตกลงมา และทับถมสร้างชั้นธรณีที่อุดมไปด้วยวัสดุที่มาจากดาวเคราะห์น้อย นักวิทยาศาสตร์เผยว่า สัญญาณที่บ่งชี้ถึงฝุ่นดาวเคราะห์น้อยก็คือ ธาตุอิริเดียมที่หาได้ยากในเปลือกโลก แต่กลับมีมากในดาวเคราะห์น้อยบางประเภท อิริเดียมยึดติดในชั้นธรณีภาคที่พบทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์พบการยึดติดที่คล้ายกันในส่วนของหินที่ดึงออกมาจากชั้นตะกอนที่ทับถมกันมานานในแอ่งชิกชูลูบ ทำให้สามารถระบุช่วงเวลาที่ฝุ่นหมุนเวียนในอากาศได้อย่างแม่นยำ โดยระบุว่าเป็นเวลาเพียง ๒๐ ปีหลังจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าจะกลับไปเริ่มสำรวจพื้นที่ใจกลางแอ่งดังกล่าวในฤดูร้อนนี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy