11 มิถุนายน 2564 ค้นพบฟอสซิลกิ้งก่าทะเลยักษ์สายพันธุ์ใหม่ในประเทศโมร็อกโก

ที่มา:

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2112832

โมซาซอร์ (Mosasaur) หรือกิ้งก่าทะเลยักษ์มีวิวัฒนาการและมีความหลากหลายในปลายยุคครีเตเชียส ที่ผ่านมาค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลโมซาซอร์สายพันธุ์ใหม่ ดร.นิค ลองริช วิทยากรอาวุโสของศูนย์วิวัฒนาการมิลเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษ เคยเขียนบทความว่า ทะเลชายฝั่งแอฟริกาเมื่อ 66 ล้านปีก่อน เป็นทะเลที่อันตรายที่สุดในโลก เพราะมีความหลากหลายของสัตว์นักล่าทางทะเล หนึ่งในนั้นก็คือ โมซาซอร์ ล่าสุด การค้นพบซากฟอสซิลโมซาซอร์จากปลายยุคครีเตเชียสในประเทศโมร็อกโก ระบุเป็นสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า Pluridens serpentis มีขนาดใหญ่ ตัวยาวถึง 8 ม. ขณะที่เครือญาติวงศ์โมซาซอร์มักมีขนาดเล็กและยาวเพียงไม่กี่เมตร ส่วน Pluridens serpentis มีกรามยาวเรียว ฟันกว่าร้อยซี่แหลมคมเหมือนเขี้ยวงูเพื่อจับเหยื่อตัวเล็ก ๆ เช่น ปลา ปลาหมึก แต่เมื่อเทียบกับญาติโมซาซอร์ด้วยกันแล้ว Pluridens serpentis มีดวงตาเล็กกว่า บ่งชี้ถึงการมองเห็นที่ไม่ดีนัก แต่เส้นประสาทจำนวนมากในช่องจมูกใช้ตรวจจับการเคลื่อนไหวของน้ำและการเปลี่ยนแปลงของแรงดัน เส้นประสาทเหล่านี้ดูจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของแรงดันน้ำซึ่งเป็นการปรับตัวที่พบในงูทะเล ดร.นิค ลองริช เผยว่า การที่ Pluridens serpentis มีเส้นประสาทจำนวนมากที่ใบหน้า เป็นไปได้ว่ามันใช้การเปลี่ยนแปลงของแรงดันน้ำ เพื่อตรวจจับสัตว์ในสภาพแสงน้อยในเวลากลางคืน หรือในน้ำที่ลึกและมืด ถ้าไม่ได้ใช้ดวงตาเชื่อได้ว่ามันจะใช้ลิ้นล่าเหยื่อเหมือนงูและกิ้งก่าหลายชนิด ทั้งนี้ การค้นพบ Pluridens serpentis ทำให้จำนวนชนิดของโมซาซอร์ในยุคครีเตเชียสที่พบในประเทศโมร็อกโกมีถึง 13 ชนิดแล้ว

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy