11 มกราคม 2565 ความเสี่ยงร่วมกัน แผนปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารพิษโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/articles/650671/

เมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบการเตรียมระบายน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีในระดับต่ำมาก ปริมาณมากกว่า 1 ล้านตันจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ประมาณช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2566 โดยจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และจ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสมให้แก่ภาคธุรกิจ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งมีการประเมินแล้วว่า จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการครั้งนี้ ขณะที่ก่อนถึงกำหนดการรัฐบาลญี่ปุ่นจะเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการเตรียมการ ประเมินสถานการณ์ และให้คำแนะนำแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าแห่งนี้ให้เตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุดก่อนปล่อยน้ำลงสู่ทะเลอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ กล่าวระหว่างลงพื้นที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาว่า แผนการระบายน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น ตามแนวทางของรัฐบาลชุดก่อนหน้าในสมัยนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ ซึ่งประกาศเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 ต้องการระบายน้ำเสียทั้งหมดจากอ่างเก็บ 1,020 แห่งลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นหนทางหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการจัดการกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากอ่างเก็บน้ำเสียภายในโรงไฟฟ้าที่รองรับปริมาณน้ำได้สูงสุด 1.37 ล้านตัน จะเต็มความจุภายในปี พ.ศ. 2565 โดยน้ำเสียทั้งหมดจะผ่านกระบวนการกรองเพื่อลดสารอันตรายลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล คงเหลือเพียงทริเทียม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าต้องเป็นการบริโภคปริมาณมหาศาลจึงจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต บการระบายน้ำเสียทั้งหมดนี้ ต้องใช้เวลานานหลายสิบปีในระหว่างนี้ เทปโกจะสร้างสถานที่เก็บแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนที่หลอมละลายจนใช้การไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม จีนและเกาหลีใต้ยังคงประท้วงอย่างหนัก เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศ และขอให้ประชุมร่วมกันก่อน ผลการศึกษาที่เผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสารเนเชอรัล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) ซึ่งมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบระบุว่า ภายในระยะเวลา 3,600 วัน หลังการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่ทะเล สารพิษจะกระจายครอบคลุมพื้นที่แทบทั้งหมดของมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบว่า สารกัมมันตรังสีจะก่อให้เกิดความกังวลใกล้กับชายฝั่งอเมริกาเหนือในท้ายที่สุด โดยการปนเปื้อนจะมีความเด่นชัดมากขึ้นภายใน 2,400 วัน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy