11 กุมภาพันธ์ 2565 ศิลาจารึก Rosetta Stone กุญแจไขความลี้ลับอักษรภาพอียิปต์

ที่มา:

https://www.silpa-mag.com/history/article_3110

เมื่อปี ค.ศ. 2004 องค์การอวกาศยุโรปส่งยานอวกาศชื่อโรเซตต้า (Rosetta) ไปสำรวจดาวหางดวงหนึ่ง ในเดือนพ.ย. 2014 ยานอวกาศลำนี้ส่งยานลูกชื่อ ฟิเล (Philae) ไปร่อนลงยังดาวหาง ในบริเวณที่นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อว่า อกิลเกีย (Agilkia) โรเซตต้า ฟิเล และอกิลเกีย เป็นชื่อสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการไขปริศนาความลี้ลับของวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ เมื่อกองทัพนโปเลียนบุกไปยึดครองอียิปต์ และขุดพบศิลาจารึกโรเซตต้า (The Rosetta Stone)ในปี ค.ศ. 1799 และต่อมาค้นพบเสาหินโอบิลิสก์ที่วิหารเทพธิดาไอซิส เกาะฟิเล ทำให้นักภาษาศาสตร์อย่างชามโพลลิอองสามารถไขความลับของอักษรภาพอียิปต์โบราณออกมาได้ ส่วนอกิลเกีย คือ เกาะที่อยู่ใกล้กันกับเกาะฟิเล เมื่อมีการสร้างเขื่อนอัสวานในปี ค.ศ. 1960-70 เกาะฟิเลจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้ต้องรื้อวิหารไอซิส ไปตั้งอยู่ที่เกาะอกิลเกีย เมื่อกองทัพนโปเลียนบุกไปอียิปต์ในปี ค.ศ. 1798 ไม่ได้มีเป้าหมายทางทหาร เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของอังกฤษจากตะวันออกไกลเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายด้านวัฒนธรรมอีกด้วย โดยมีคณะนักสำรวจที่ประกอบด้วยวิศวกร สถาปนิก ศิลปิน และนักวิทยาศาสตร์ติดตามไปด้วยร้อยกว่าคน เพื่อศึกษารายละเอียดด้านต่าง ๆ ของอียิปต์ ในปี ค.ศ. 1799 นายทหารวิศวกรคนหนี่งขุดพบโบราณวัตถุที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ที่ปัจจุบันเรียกว่า ศิลาจารึกโรเซตต้า (The Rosetta Stone) ที่มีจารึกเป็นตัวอักษร 3 แบบ คือ อักษรภาพ อักษรลายมือ และอักษรกรีก เมื่อกองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่ออังกฤษ ต้องมอบวัตถุโบราณของอียิปต์ให้แก่อังกฤษ รวมทั้งศิลาจารึกโรเซตต้า ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ คณะนักสำรวจของนโปเลียนเก็บข้อมูลทุกด้านของอียิปต์โบราณ ทำให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอียิปต์ แต่ความเข้าใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของอียิปต์โบราณยังไม่เกิดขึ้น เพราะความเข้าใจดังกล่าวต้องมาจากความสามารถในการอ่านอักษรภาพ แม้แต่คณะนักสำรวจของนโปเลียนที่บันทึกเรื่องต่าง ๆ ของอียิปต์โบราณไว้มากมาย ก็ยังเกิดการเข้าใจผิด เมื่อคนพวกนี้ได้ไปเห็นวิหารคาร์นัก ที่เมืองลักซอร์ ก็เข้าใจว่า วิหารนี้คือ พระราชวังแวร์ซายส์ ของฟาโรห์อียิปต์ เพราะเหตุนี้การจะเข้าใจอียิปต์โบราณได้จึงอยู่ที่ความพยายาม และความสำเร็จในการไขความลับของศิลาจารึกโรเซตต้าที่จารึกข้อความด้วยภาษาเขียน 3 แบบ ศิลาจารึกนี้เขียนขึ้นในสมัยปโตเลมีที่ 5 (ค.ศ. 205-180 ปีก่อนคริสตกาล) แม้ขอบศิลาจารึกในส่วนของอักษรภาพจะเสียหาย จนไม่มีประโยคท่อนไหนสมบูรณ์เลย แต่ส่วนของอักษรกรีซก็ยังสมบูรณ์พอที่จะเข้าใจความหมายในส่วนของอักษรภาพ และอักษรลายมือ หลังจากค้นพบศิลาจารึกโรเซตต้ามาแล้ว 20 ปี ในปี ค.ศ. 1822 ฌอง ฟรังซัว ชามโพลลิออง (Jean-Francois Champollion) ประกาศอย่างมั่นใจว่า เขาสามารถถอดความลับของอักษรภาพอียิปต์ออกมาได้แล้ว เมื่อประกาศความสำเร็จ ชามโพลลิอองมีอายุเพียง 32 ปี ตามปกติแล้ว นักภาษาศาสตร์ต้องใช้เวลาชั่วชีวิตจึงจะบรรลุความสำเร็จแบบพลิกประวัติศาสตร์ได้ แต่ชามโพลลิอองหลงใหลในอียิปต์โบราณ มาตั้งแต่อายุ 12 ขอบ และนับจากนั้นมาก็มุ่งมั่นที่จะถอดความลับของอักษรภาพ เขาใช้เวลาหมดไปกว่า 20 ปีในการศึกษาภาษาตะวันออก เช่น อารบิก สันสกฤต เปอร์เซีย รวมทั้งภาษาจีนโบราณ ที่เขาคิดว่าจะช่วยในการเข้าใจภาษาอียิปต์โบราณ ชามโพลลิออง ก็เหมือนนักภาษาศาสตร์หลายคนในเวลานั้นที่คิดว่า อักษรภาพอียิปต์เป็นอักษรที่มีความหมายเป็นความคิดเช่น ตัวอักษรภาพนกฮูก หมายถึง นกฮูก แต่เขาก็เชื่อว่า ในเวลาเดียวกันคำ ๆ นั้นก็มีความหมายเป็นเสียง เช่น ตัวอักษรภาพนกฮูกเป็นคล้ายกับพยัญชนะที่ออกเสียงเทียบได้กับคำในภาษาอังกฤษว่า เอ็ม (M) ความพยายามของชามโพลลิอองในการเปรียบเทียบข้อความอักษรภาพกับข้อความในภาษากรีกที่อยู่ในศิลาจารึกโรเซตต้า เหมือนเป็นเรื่องราวการสืบสวนที่ซับซ้อน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะเปรียบเทียบ 2 ภาษานี้ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่พระนามของฟาโรห์และราชินี จะเขียนอยู่ในวงกลมเรียวยาวทรงรูปไข่ วงกลมนี้คือ วงแหวนอมตะ (Ring of Eternity) ชามโพลลิอองดูชื่ออักษรภาพที่เขียนในวงกลม เมื่ออ่านเปรียบเทียบในภาษากรีกออกเสียงได้ว่า ปโตเลมี และคลีโอพัตราเมื่อย้อนกลับไปดูชื่อ 2 ชื่อนี้ ที่เขียนเป็นตัวอักษรภาพในวงแหวนอมตะ ชามโพลลิอองรู้ว่าเขาเดินมาถูกทางแล้ว คือ ตัวอักษรภาพแต่ละตัวมีความหมายเป็นพยัญชนะที่เป็นตัวแทนเสียง ต่อมา ชามโพลลิอองก็สามารถอ่านอักษรภาพที่เป็นชื่อพระนาม จารึก และประโยคสั้น ๆ แต่วงการวิชาการใช้เวลาถึง35ปีต่อมา จึงจะยอมรับว่า ชามโพลลิอองเป็นฝ่ายถูกมาตั้งแต่ต้น ทำให้การศึกษาที่จริงจังเกี่ยวกับอียิปต์โบราณต้องล่าช้ามาถึง 3 ทศวรรษ 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy