11 กุมภาพันธ์ 2564 ธารน้ำแข็งละลายจนถล่ม พังเขื่อนแตก นักวิทย์ขึ้น ฮ. ส่อง ปมโลกร้อน

ที่มา:

https://www.khaosod.co.th/update-news/news_5926179

เหตุภัยพิบัติธารน้ำแข็งถล่มพังเขื่อนแตกจนน้ำหลากท่วมฉับพลันบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำทาโปวัน รัฐอุตตราขัณฑ์ ภาคเหนือของประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย และผู้สูญหายกว่า ๒๐๐ รายนั้น นักวิทยาศาสตร์กำลังตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้ธารน้ำแข็งบางส่วนแตก ถล่มลงเขื่อนจนทำให้เกิดคลื่นสูง และน้ำทะลักท่วมอย่างน่าตกใจ นักวิทยาศาสตร์ ๕ คนขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจธารน้ำแข็ง และถ่ายรูป พร้อมประเมินสถานการณ์จากภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณที่เสียหาย โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ธารน้ำแข็งน่าจะแตกแล้วร่วงลงมาใส่แม่น้ำ หรือเป็นเพราะหิมะถล่มลงมา เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน และโรงไฟฟ้าด้านล่าง ต้นตอของเหตุการณ์น่าสะพรึงครั้งนี้ เกิดจากธารน้ำแข็งบนยอดเขา ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๕,๖๐๐ ม. ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งปกคลุมไหล่เขาลาดชัน และตรึงไว้ด้วยหินนั้น เป็นส่วนที่เริ่มอ่อนตัวลงไปตามกาลเวลา ผ่านช่วงแช่แข็ง และละลาย กระทั่งเมื่อธารน้ำแข็งหลอมละลายผ่านกาลเวลาพร้อมกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น จนอ่อนตัว และพังทลายลงในที่สุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ ก.พ. พัดพาเอาหิมะ ก้อนหิน ตะกอนและน้ำไปตามกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปจนถึงตีนเขา เมื่อหินจำนวนมหาศาล หิมะ และตะกอนดินไหลลงมาถึงลำธารแคบๆ บนภูเขาที่ระดับความสูง ๓,๖๐๐ ม. ทำให้ระดับน้ำในลำธารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มวลน้ำมหาศาล และก้อนหินที่ไหลมากับสายน้ำล้นทะลักเขื่อนเบื้องล่าง ทำให้พื้นที่ด้านล่างถูกน้ำท่วมฉับพลัน

คาลาชาน เซน ผู้อำนวยการสถาบันวาเดียด้านภูมิศาสตร์หิมาลัยส่งคณะนักวิทยาศาสตร์ไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและกล่าวว่า เหตุแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก พร้อมกับชี้ว่าสาเหตุเกิดจากธารน้ำแข็งที่เกาะอยู่เกิดอ่อนตัว หลังจากผ่านกาลเวลามานาน หรือระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าสาเหตุหลักเกิดจาก “ภาวะโลกร้อน” เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำแข็งละลาย และธารน้ำแข็งจึงแตกตัว ธารน้ำแข็งสะสมหิมะในหน้าหนาว และละลายในหน้าร้อน แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งใช้เวลาละลายเร็วกว่าตอนสะสมซึ่งประเมินว่า อาจมีธารน้ำแข็งกว่า ๑๐,๐๐๐ แห่งบนเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย เฉพาะรัฐอัตตราขัณฑ์ น่าจะมีประมาณ ๑,๔๙๕ แห่ง และลดจำนวนลงมาก เนื่องจากสภาพอากาศอบอุ่น ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ ก.พ. ถือได้ว่าเกิดขึ้นได้เพียงร้อยละ ๑๐ ของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย แต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินมหาศาล ความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายในเหตุการณ์นี้นับร้อยชีวิต หน่วยกู้ภัยใช้โดรนค้นหาคนงานที่สูญหายอยู่ในอุโมงค์ที่ถูกน้ำทะลักท่วม จากผู้สูญหาย ๒๐๔ ราย ส่วนใหญ่เป็นคนงานที่โรงไฟฟ้าทาโปวัน วิษณุกฎ กู้ศพได้แล้ว ๓๒ ราย ความหวังในการค้นหาผู้รอดชีวิตริบหรี่ลงเรื่อยๆ หลังจากโดรนที่ติดตั้งกล้อง ๕ ตัวส่งเข้าไปในอุโมงค์ไม่พบร่องรอยทั้งผู้รอดชีวิต หรือร่างผู้เสียชีวิต ขณะที่สภาพอากาศหนาวเย็นจัด ทำให้แทบไม่มีหวังว่า จะมีใครรอดชีวิตได้ ทีมเคลียร์ดินโคลนที่ขวางอุโมงค์อยู่ เคลื่อนย้ายดินโคลนไปได้มากกว่า ๘๐ ม. แต่ยังต้องเคลียร์ให้ได้อีก ๘๐ ม. จึงจะถึงจุดที่คนงานส่วนใหญ่ติดอยู่ นอกจากนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านตามเทือกเขา ๑๓ หมู่บ้านยังถูกตัดขาดจากภายนอก เนื่องจากน้ำปนดินโคลนหลากท่วมเส้นทาง เจ้าหน้าที่ต้องส่งเฮลิคอปเตอร์ไปส่งเสบียงให้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy