10 ธันวาคม 2566 เมื่อค่าทางสิ่งแวดล้อม (Green Claim) เป็นคุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของสินค้าและบริการ

ที่มา : Infoquest (https://www.infoquest.co.th/2023/357110)
“สินค้า” ที่เราซื้อนั้นควรจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง หากเราเลือกที่จะซื้อข้าวสารหนึ่งถุงจากร้านสะดวกซื้อ เราคาดหวังว่าข้าวนั้นจะมีคุณสมบัติตามรายละเอียดที่ปรากฏบนฉลากแสดงรายละเอียดและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ เช่น เป็นข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ใด ขณะเดียวฉลากดังกล่าวก็อาจแสดงแหล่งที่มาและวิธีการผลิตข้าวได้ เช่น เป็นการผลิตโดยเกษตรกรพื้นบ้านและปลูกโดยวิธีการที่ “ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ “มีความเป็นข้าวคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Rice)” จากข้อมูลเหล่านี้ ผู้ซื้อสามารถคาดหวังอะไรจาก “ข้าว” ที่ซื้อได้บ้าง ความคาดหวังนั้นมิได้จำกัดเพียงว่า ข้าวสารนั้นนำมาหุงเพื่อรับประทานได้อย่างปลอดภัย มีรสชาติ รสสัมผัส และกลิ่นของความเป็นข้าวหอมมะลิ หากแต่ยังรวมไปถึงต้องเป็นข้าวที่ “ถูกผลิต” โดยกระบวนการที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป หรือต้องไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตเลย หากแม้ข้าวนั้นสามารถบริโภคได้ แต่กระบวนการผลิตนั้นไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ในระดับ” ที่ผู้ซื้อคาดหวังหรือเข้าใจแล้ว จะถือว่าผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าแสดงข้อความอันเป็น “เท็จ” เกี่ยวกับคุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของ “ข้าว” หรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ผลิตจะใช้เกณฑ์การวัดค่าสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปจากเกณฑ์ของผู้ซื้อ ผู้ซื้ออาจคาดหวังว่าสินค้าที่ตนซื้อจะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่ผู้ขายได้ดำเนินการ กรณีนี้ผู้ซื้อจะทำให้สัญญาซื้อขายสิ้นสุดได้หรือไม่ ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ คำถามที่ตามมาจึงเกิดว่าแล้วระบบกฎหมายไทยจะจัดการปัญหาหรือความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Centre for SDG Research and Support: SDG Move) ได้รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมนำเสนอ “ข้อริเริ่มผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน” (Sustainable Products Initiative) ซึ่งเป็นการผลักดันให้สินค้าของสหภาพยุโรปมีความทนทาน นำกลับมาใช้ได้บ่อยครั้ง ซ่อมแซมได้ รีไซเคิลได้ และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้ระเบียบวิธีที่เรียกว่า “Product Environmental Footprint (PEF)” เป็นมาตรฐานวัด “ค่าทางสิ่งแวดล้อม” (Green Claims) หรือการวัดผลกระทบของผลิตภัณฑ์และผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบจนถึงสิ้นวงจรอายุของผลิตภัณฑ์ โดยสรุป ค่าทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นความจริงเชื่อถือได้เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Transition) และหากมองจากมุมทางพลังงานแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า ค่าทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นความจริงเชื่อถือได้ยังมีส่วนสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ไปยังระบบการผลิตและใช้พลังงานแบบกระจายศูนย์และความเป็นประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy) อีกด้วย ผู้เขียนเห็นว่าข้อมูลที่ถูกต้องคือพลังงานของผู้บริโภค การเสริมสร้างพลังให้กับผู้ใช้พลังงานที่จะเลือกพลังงานที่จะใช้ในราคาที่สมเหตุสมผลคือทั้งเป็นธรรมกับผู้ขาย เป็นธรรมกับตัวผู้ใช้พลังงานเอง และเป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายที่มีศักยภาพและมีโอกาสถูกพัฒนาในกรณีนี้ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการแสดงเจตนาเพื่อทำนิติกรรมสัญญาและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค