10 กันยายน 2563 มลพิษ: สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป ระบุ ๑ ใน ๘ ของการเสียชีวิตของคนยุโรปมีสาเหตุจากมลพิษ

ที่มา:
https://www.bbc.com/thai/international-54094017
รายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปพบว่า ร้อยละ ๑๓ ของการเสียชีวิตทั้งหมดมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศและเสียง ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ยากจน และกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก พบความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพของประชากรโลก และเราต้องดูแลโลกไม่ใช่เพื่อรักษาระบบนิเวศเท่านั้น แต่เพื่อรักษาชีวิตคนด้วย ในปี ๒๐๑๒ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ๖๒๐,๐๐๐ ราย ในยุโรปมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยของการเสียชีวิต ๔๐๐,๐๐๐ รายต่อปี ส่วนมลพิษทางเสียงเป็นปัจจัยของการเสียชีวิต ๑๒,๐๐๐ ราย ส่วนกรณีการเสียชีวิตที่เหลือเป็นผลมาจากสภาพอากาศสุดขั้ว อาทิ คลื่นความร้อน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนหลายล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี และเป็น ๑ ใน ๓ สาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะสมองขาดเลือด มะเร็งปอด และโรคหัวใจ
สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรประบุว่า มีความแตกต่างชัดเจนระหว่างยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก
ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์และไอซ์แลนด์มีการเสียชีวิตที่มีปัจจัยจากมลพิษแค่ร้อยละ ๙ ส่วนสัดส่วนการเสียชีวิตจากมลพิษในประเทศอัลเบเนีย และบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาอยู่ที่ร้อยละ ๒๓ และ ๒๗ ตามลำดับ
ในสหภาพยุโรป ประเทศโรมาเนียเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากปัจจัยด้านมลพิษสูงที่สุดที่ร้อยละ ๑๙ ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักได้แก่ มอนเตเนโกร มาซิโดเนียเหนือ และเซอร์เบีย ขณะที่สัดส่วนสำหรับสหราชอาณาจักรอยู่ที่ร้อยละ ๑๒
สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปกล่าวว่า เราควรให้ความสำคัญสูงสุดกับพื้นที่ธรรมชาติอย่างป่าไม้และแหล่งน้ำเพราะพื้นที่เหล่านี้สามารถช่วยตัวเมืองได้เวลาเผชิญกับภาวะต่างๆ อาทิ คลื่นความร้อน น้ำท่วม ช่วยลดมลพิษทางเสียง และก็ช่วยส่งเสริมระบบนิเวศน์ในเขตเมือง ปีที่แล้ว กรุงลอนดอนประกาศริเริ่มโครงการเขตปล่อยมลภาวะต่ำสุด (Ultra Low Emission Zone) โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อจำกัดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ ประเทศอิตาลีกำหนดเขตปล่อยมลภาวะต่ำเช่นกัน บางที่เป็นแบบถาวร บางที่เป็นแค่บางช่วงของปี ประเทศเยอรมนีมีเขตปล่อยมลภาวะต่ำถึง ๘๐ แห่ง ส่วนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรมีประเทศละ ๑๔ แห่ง
นอกจากนี้ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมได้ประกาศสร้างทางจักรยานอีก ๔๐ กม. โดยหวังให้คนใช้การขนส่งสาธารณะน้อยลงหลังรัฐคลายมาตรการล็อกดาวน์