10 กรกฎาคม 2563 ตามส่องจ้าวป่า แต่เจอเสือดำ เสือดาวโชว์ตัวพร้อมกันในผืนป่าคลองลาน

ที่มา:

https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000070606

เพจเฟซบุ๊กอุทยานแห่งชาติคลองลาน  โพสต์ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera trap survey) เป็นเทคนิคในการติดตามประชากรเสือโคร่ง เพื่อประเมินประชากรอย่างถูกต้องและแม่นยำ ทั้งนี้ จ้าวป่าแห่งผืนป่าคลองลาน หรือเสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินเนื้อเป็นอาหาร มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ และยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการใช้พื้นที่อาศัยขนาดใหญ่ และมีความต้องการสัตว์ที่เป็นเหยื่อที่หลากหลาย หากเสือโคร่งสามารถอาศัยอยู่ได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัตว์ชนิดต่างๆ ก็อาศัยอยู่ได้อย่างปกติเช่นกัน แต่ปัจจุบันประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างน่าเป็นห่วง จนถูกจัดให้อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) เนื่องจากสาเหตุสำคัญ ๓ ประการ คือ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การถูกล่า และปริมาณของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง เป็นความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ WWF -ประเทศไทย เข้ามาสำรวจในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งมีพื้นที่รวมกันกว่า ๑,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของผืนป่าตะวันตก ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพราะเป็นพื้นที่ที่พบประชากรเสือโคร่งหนาแน่นที่สุด จึงมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับการกระจาย และพลวัตรด้านประชากรของเสือโคร่ง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการพื้นที่เกี่ยวกับเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ในการสำรวจของเจ้าหน้าที่ จะสำรวจและบันทึกข้อมูลการปรากฎของเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อ รวมถึงปัจจัยคุกคามต่างๆ เช่น การล่า แคมป์ การตัดไม้ หาของป่า ทุกๆ ระยะ ๑ กม. ในแต่ละกริด จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มารวบรวมและวิเคราะห์ เพื่อแสดงผลในรูปของความถี่สัมพัทธ์ การกระจาย และการครอบครองพื้นที่ของเสือโคร่ง และสัตว์ที่เป็นเหยื่อของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy