1 พฤษภาคม 2567 ภัย! ขยะพิษโรงงาน วัวหายรีบล้อมคอก

ภัย! ขยะพิษโรงงาน วัวหายรีบล้อมคอก

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  (https://www.thairath.co.th/news/local/2782038)

ข้อเสนอแนะในการกำกับ ควบคุม ดูแลโรงงานจัดการ “กากของเสียอันตราย” ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรม นักวิชาการสิ่งแวดล้อม มองว่า ต้องเริ่มจากต้นตอปัญหา นั่นก็คือ โรงงานที่รับกำจัด คัดแยกและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ในประเทศไทย (2,500 แห่ง) ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีเงินลงทุนน้อย ประสิทธิภาพต่ำ ระบบการบำบัดมลพิษไม่มีประสิทธิภาพ บางส่วนที่เก็บไว้ในโกดัง บางส่วนลักลอบฝังกากพิษไว้ในที่ดินของโรงงานเอง หรือนำไปฝังในบ่อดินชุมชนที่เช่าหรือซื้อมา คำถามสำคัญมีว่า นโยบายประเทศไทยควรทำอย่างไร? ในการจัดการให้ปัญหานี้ลดน้อยลง? อาจารย์สนธิ บอกว่า การอนุญาตตั้งโรงงานคัดแยกและรับรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่อันตราย เช่น หลอม หล่อโลหะ สารเคมีอันตราย สารที่ติดไฟ สารก่อมะเร็ง ควรตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไม่ควรมาตั้งในชุมชน รวมทั้งต้องให้จัดทำรายงานอีไอเอ เปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อน ข้อสำคัญถัดมาควรยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4/2559 ที่กำหนดให้สามารถตั้งโรงงานประเภทดังกล่าวได้ โดยยกเว้นกฎหมายผังเมืองเป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสีของผังเมืองใหม่ ทำให้เกิดโรงงานเหล่านี้มาตั้งในชุมชนจำนวนมาก ข้อที่สามสำหรับโรงงานที่ตั้งอยู่แล้วในชุมชนควรกระจายอำนาจให้ อปท. เป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ด้านกากอุตสาหกรรมของ พ.ร.บ.โรงงานสามารถไปตรวจสอบการเก็บ การจัดการกากในโรงงานในพื้นที่ของ อปท. รับผิดชอบได้ รวมทั้งควรตั้งเครือข่ายประชาชนคอยเฝ้าระวังการลักลอบการขนกากไปทิ้ง ข้อที่สี่ เพื่อแก้ไขปัญหากำลังคนไม่เพียงพอ กรมโรงงานควรขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบเอกชนให้ทำหน้าที่ตรวจสอบแทนในทุกครั้งที่มีการขนย้ายกากทั้งต้นทางและปลายทาง รวมทั้งการจัดการกากในโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนในต่างประเทศ ข้อที่ห้า โรงงานดังกล่าว ทุกแห่งควรกำหนดให้ต้องทำประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม ประกันภัยจะมาตรวจสอบโรงงานเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนแทนหน่วยราชการ  กรณีเกิดปัญหาประกันภัยต้องจ่ายชดเชยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทันที ข้อที่หก ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environ mental Guarantee..Fund)..โดยให้โรงงานดังกล่าวจ่ายเงินเข้ากองทุนตามข้อกำหนด เมื่อเกิดอุบัติภัยหรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รัฐจะได้นำเงินกองทุนเหล่านี้มาจัดการกับปัญหาและฟื้นฟูเยียวยาประชาชนก่อนแล้วจึงไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจาก “ผู้ก่อกำเนิด” มาชดใช้เข้ากองทุนทีหลัง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy