ใต้ผืนน้ำสีคราม: เรื่องเล่าของพะยูน

เรื่องเล่าของพะยูน

ทุกคนคงรู้จัก พะยูน ที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลทั่ว ๆ ไป แต่ในเชิงลึกพวกเรารู้จักพะยูนกันดีหรือยัง พะยูน (Dugong dugon) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในอันดับ Sirenia และวงศ์ Dugong พะยูนอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งที่มีน้ำตื้นและอุดมไปด้วยหญ้าทะเล ลักษณะลำตัวเป็นรูปกระสวยคล้ายโลมา แต่มีขนาดใหญ่กว่า ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่า มีขนสั้นๆ กระจายทั่วลำตัว และมีขนเส้นใหญ่บริเวณปาก ดวงตาและหูมีขนาดเล็ก ไม่มีใบหู และมีรูจมูกหนึ่งคู่ที่สามารถปิด-เปิดได้เพื่อช่วยให้หายใจขณะอยู่ใต้น้ำ แต่จะขึ้นมาหายใจทุก 1-2 นาที พะยูนมีครีบด้านหน้า 1 คู่ ภายในประกอบด้วยนิ้ว 5 นิ้ว หางเป็นแฉกช่วยให้สามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยความเร็วประมาณ 1.8-2.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีกระดูกที่แน่นและหนักเพื่อช่วยในการจมตัวลงไปยังพื้นทะเล ที่เป็นแหล่งอาหาร

วิวัฒนาการของพะยูน

ทราบกันหรือไม่ว่า “พะยูน” เป็นสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ที่มีวิวัฒนาการมาหลายชั่วอายุ แต่จริงๆ แล้วมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกับช้าง เมื่อประมาณ 55 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษของพะยูนอาศัยอยู่บนบก ก่อนจะวิวัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตในน้ำได้ ขาหลังค่อยๆ ลดขนาดลงจนหายไป ส่วนขาหน้าเปลี่ยนไปเป็นครีบเพื่อให้เหมาะกับการว่ายน้ำ เมื่อวิเคราะห์โครงสร้างร่างกายของพะยูนพบว่ามีความคล้ายคลึงกับช้างในหลายแง่มุม เช่น ฟันของพะยูนมีลักษณะคล้ายฟันกรามของช้าง และบางตัวมีงาที่เป็นกระดูกยื่นออกมา  พฤติกรรมของพะยูนในการดูแลลูกก็คล้ายกับช้าง โดยลูกพะยูนจะอยู่กับแม่เป็นเวลาหลายปี และเรียนรู้การหากินจากแม่

พะยูนเป็นสัตว์ที่รักสงบและไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหากินและพักผ่อนในแหล่งน้ำนิ่ง เป็นสัตว์กินพืช โดยเฉพาะหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลัก โดยจะใช้ริมฝีปากที่หนาและแข็งแรงในการขุดและดึงหญ้าทะเลขึ้นมากิน หญ้าทะเลเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ ทำให้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการกินเพื่อให้ได้รับพลังงานเพียงพอ พะยูนสามารถกินหญ้าทะเลได้ถึง 40 กิโลกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามหญ้าทะเลนับว่าเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เพราะช่วยรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมใต้น้ำ ซึ่งพะยูนก็เป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อหญ้าทะเล เพราะช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์และควบคุมการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล อย่างไรก็ตาม พะยูนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน จะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก ชาวตะวันตกเรียก “วัวทะเล” และชาวมาเลเซียเรียก “ดูกอง” ชาวใต้นิยมเรียก “ดูหยง” หรือ “ตูหยง” ซึ่งมาจากภาษามาเลเซีย ในบางพื้นที่อาจออกเสียงเป็น “ดุยง ดุหยง ตุยง” หรือ “ตุหยง” ส่วนคำว่า “หมูน้ำ” อาจมีที่มาจากลักษณะของเนื้อที่คล้ายเนื้อหมู หรือพฤติกรรมการกินอาหารที่คล้ายหมู

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ที่ไม่มีอาวุธป้องกันตัว มีเพียงลำตัวขนาดใหญ่และผิวหนังที่หนาช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่า เช่น ฉลาม พะยูนเป็นสัตว์ที่มีการสื่อสารกันผ่านเสียงที่มีความถี่สูง ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ โดยจะใช้เสียงนี้ในการเรียกหากันและเตือนภัยจากอันตราย สำหรับลูกพะยูนเกิดใหม่จะอยู่ใกล้ชิดกับแม่ และอาศัยแม่เป็นโล่กำบังจากภัยอันตราย

สถานภาพของพะยูน
ปัจจุบันพะยูนถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพ “ใกล้สูญพันธุ์” (Vulnerable) ตามบัญชีแดงของ IUCN เนื่องจากจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย มลพิษทางทะเล การชนกับเรือ และการติดเครื่องมือประมงโดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนี้ การล่าพะยูนเพื่อใช้เนื้อ หนัง และเขี้ยว ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้จำนวนประชากรลดลง
สำหรับประเทศไทยสามารถพบพะยูนได้บริเวณชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะ ในพื้นที่ของจังหวัดตรัง ซึ่งมีประชากรพะยูนมากที่สุด ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีประชากรพะยูนประมาณ 200 ตัว คิดเป็นเพียง 0.2-0.25% ของประชากรพะยูนทั่วโลก โดยพบมากที่สุดบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง อย่างไรก็ตาม อัตราการสูญพันธุ์ของพะยูนยังคงสูง ซึ่งในแต่ละปียังพบพะยูนตายจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเครื่องมือประมง การถูกเรือชน และมลพิษทางทะเล

แนวทางการอนุรักษ์พะยูน
การอนุรักษ์พะยูนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นักวิจัย และประชาชนในพื้นที่ โดยมีแนวทางที่สำคัญในการอนุรักษ์พะยูน ดังนี้
• การอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเล
• ลดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน
• ควบคุมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อพะยูน
• เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนและเยาวชนเกี่ยวกับความสำคัญของพะยูน
• พัฒนามาตรการป้องกันการสูญเสียพะยูนจากกิจกรรมของมนุษย์
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเราทุกคนจะร่วมกันอนุรักษ์เจ้าพะยูนตัวน้อย หากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และดำเนินการตามแนวทางการอนุรักษ์อย่างจริงจัง ก็จะทำให้พะยูนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องทะเลไทยได้อย่างปลอดภัยและมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

บทความโดย นางสาวสุดารัตน์ สินชัย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านวิชาการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)

เอกสารอ้างอิง
ธรรมชาติของพะยูน, สุทัศน์ ยกส้าน, 11 ก.พ. 2554 https://mgronline.com/science/detail/9540000018665
https://library.parliament.go.th/index.php/th/radioscript/rr2565-sep2
พะยูน, คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, https://km.dmcr.go.th/c_10/d_957
พะยูน หรือน้องหมูน้ำ เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งไทย, ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2023-128/

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy