เลขาธิการ สผ. ชี้ “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” โอกาสใหม่ทางธุรกิจของไทย
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 บมจ. ธนาคารกสิกรไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ ธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ได้จัดงานสัมมนาทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน Earth jump 2023: New Frontier of Growth โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอโอกาสและมุมมองทางธุรกิจผ่านการสร้างธุรกิจด้วยแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) โดยได้รับเกียรติจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “The Blue planet needs us now” ร่วมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ.
และนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. เข้าร่วมพิธีเปิด ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ อาคารศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้กล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกและระดับประเทศ การเตรียมการเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย การมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 การนำเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) มาประยุกต์ใช้ การดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์โดยการปลูกป่า การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การเร่งออก (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. ได้ให้เกียรติร่วมเสวนา ในหัวข้อ Bridging Pathway to sustainable Economy โดยได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของการดำเนินงานเพื่อให้ประเทศไทยเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน การกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ความท้าทายในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ การกำหนดแนวทางที่เป็นรูปธรรม เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจนทั้งในระดับกระทรวง และระดับพื้นที่ การติดตามและประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาระบบข้อมูลสิ่งแวดล้อม การบูรณาการความร่วมมือจากทุกระดับและทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพัฒนาเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ การสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจ SME โดยมองความท้าทายเหล่านี้เป็นโอกาสของประเทศไทยในการมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีฐานทรัพยากรที่เข้มแข็งในหลายด้าน เช่น ด้านอาหาร ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งควรนำมาใช้อย่างชาญฉลาด เกิดการกระจายรายได้สู่สังคม ควบคู่ไปกับการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมฟังบรรยายและเสวนาดังกล่าวประมาณ 700 คน


จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)