สผ. หารือแนวทางการกำจัดวัชพืชต่างถิ่นรุกราน และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทะเลน้อย
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งป่าพรุ ป่าเสม็ด ป่าบึงน้ำจืด และป่าดิบชื้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม เช่น นากใหญ่หัวปลาดุก และนกตะกรุม เป็นต้น และยังเป็นพื้นที่ระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) ที่ได้รับการประกาศให้เป็น “พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage Systems: GIAHS)” ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีวัชพืชต่างถิ่นรุกรานที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพน้ำ และทัศนียภาพของทะเลน้อย เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567เวลา 13.30 น. นางสาววนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ จำนวน 2 คน ได้ประชุมร่วมกับนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. พร้อมด้วยนางสาวจิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ นายภาณุวัตร กมุทชาติ ผู้อำนวยการกลุ่มงานความมั่นคงทางชีวภาพ นางสาวเบญจมาภรณ์ วัฒนธงชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานความมั่นคงทางชีวภาพ จำนวน 3 คน ณ ห้องประชุม 1005 ชั้น 10 อาคารทิปโก้ 2 เพื่อหารือแนวทางการจัดการชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่รุกรานในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เช่น จอกหูหนูยักษ์ ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทะเลน้อย ซึ่งสำนักการเกษตรต่างประเทศ จะนำผลและข้อเสนอแนะจากการหารือในครั้งนี้ไปประกอบการจัดทำแผนบริหารพื้นที่ทะเลน้อยต่อไป



จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)