สผ. หารือร่วมกับ PNNL และ ม.ธรรมศาสตร์ ต่อผลการศึกษาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับทีมวิจัยจาก The Pacific Northwest National Laboratory (PNNL) และหน่วยวิจัยด้านพลังงานที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SEBE) ณ ห้องประชุม 1001 ชั้น 10 อาคารทิปโก้ 2 โดยมีนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. และเจ้าหน้าที่ สผ. เข้าร่วมการประชุม รวมประมาณ 20 คน โดยทีมนักวิจัยได้นำเสนอผลการศึกษาภาพฉายการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Global Change Analysis Model (GCAM) ในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 (Carbon Neutrality 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 (Net zero GHG emissions 2065) ของประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า การผลิตพลังงานไฟฟ้าควรขยายกำลังการผลิตจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าในอนาคต การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์และการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจะมีบทบาทสำคัญต่อการลดความต้องการใช้พลังงาน การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) และการผลิตพลังงานชีวภาพด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (BECCS) มาใช้เพื่อควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมในภาคพลังงาน และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะกลายเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในอนาคต รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) เป็นต้น



จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)