วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมปี 2023 (ตอนที่ 1)
เราสามารถติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในโลกได้จากช่องข่าวต่าง ๆ โดยเราอาจคิดว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นได้ หรือมีสาเหตุเกิดจากอะไร เนื่องจากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงอาจเคยเกิดขึ้นแต่ไม่รุนแรง ซึ่งในปี 2023 มีสถานการณ์สิ่งแวดล้อมสำคัญเกิดขึ้นหลายเรื่อง และในปีถัดไป เราจะยังคงเผชิญกับเรื่องเหล่านี้อีกหรือไม่ และจะมีความรุนแรงมากขึ้น หรือน้อยลงอย่างไร ซึ่ง Earth.Org ได้สรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจไว้หลายเรื่อง และในบทความนี้ จะขอสรุปสถานการณ์ที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญและน่าสนใจมานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่าน
ได้รับทราบข้อมูล และเกิดความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมากขึ้น
1. ภาวะโลกร้อน จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

จากการที่โลกเรามีก๊าซเรือนกระจกปกคลุมหนาแน่นมากขึ้น ซึ่งก๊าซดังกล่าวจะเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ แล้วทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จากข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 พบว่า
ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในบรรยากาศสูงถึง 420 ppm. และอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 1.15 oC เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นได้ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น และคงที่อยู่เช่นนี้ ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมา อาทิ การเกิดไฟป่ารุนแรงที่สุดที่เคยบันทึกข้อมูลมาในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย หรือปรากฎการณ์คลื่นความร้อนบริเวณขั้วโลกใต้ ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 20 oC เป็นครั้งแรก และนักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่า อุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับมาได้เหมือนเดิม รวมถึงอาจทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นตามมา
2. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวของเมือง ทำให้มีการผลิตและใช้สินค้ามากขึ้น ตลอดจนมีการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ล้วนเป็นสาเหตุให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น จนเกิดความเสื่อมโทรมเกินศักยภาพที่ธรรมชาติจะปรับตัวหรือสร้างขึ้นมาใหม่ได้ทัน ตลอดจนมีการปล่อย
ของเสียจากการผลิตและการบริโภคสู่ธรรมชาติจนเกิดความเสื่อมโทรม ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จากรายงานองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุว่า จำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลดลงเกือบร้อยละ 70 ตั้งแต่ปี 1970 จนถึงปี 2016 มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การแปรสภาพของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น ป่า ทุ่งหญ้า หรือป่าชายเลน ไปเป็นพื้นที่การเกษตร อีกทั้งการล่าสัตว์เพื่อการค้าที่ผิดกฎหมาย ทำให้สัตว์หลายชนิดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
3. มลภาวะจากพลาสติก

ในปี 1950 มีการผลิตพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน/ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 419 ล้านตัน/ปี ในปี 2015 ทำให้มีพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จากวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ได้ระบุว่า ปัจจุบันมีปริมาณพลาสติกลงสู่ทะเลปีละประมาณ 14 ล้านตัน และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล หากไม่มีการจัดการที่ดี จะทำให้ปริมาณพลาสติกลงสู่ทะเล
เพิ่มขึ้นถึงปีละ 29 ล้านตัน ภายในปี 2040 อีกทั้งทำให้เกิดการสะสมพลาสติกในทะเลได้มากถึง 600 ล้านตัน ผลที่ตามมาคือไมโครพลาสติกในทะเลจะมีปริมาณมหาศาล ขณะที่การสลายตัวของพลาสติกใช้เวลานานถึง 400 ปี
4. การทำลายป่าไม้

ป่าอเมซอนเป็นป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ 6.9 ล้านตารางกิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 40 ของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศและเป็น
ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์กว่า 3,000,000 ชนิด ที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีความพยายามป้องกันการทำลายพื้นที่ป่า แต่การทำป่าไม้อย่างถูกกฎหมายยังคงเป็นสาเหตุให้ป่าไม้ถูกทำลายอย่างรุนแรง และปัจจุบันพื้นที่ป่าเขตร้อนของโลก 1 ใน 3 ถูกทำลาย โดยเฉพาะป่าอเมซอนในประเทศบราซิล เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เลี้ยงปศุสัตว์ และปลูกพืชเศรษฐกิจจำพวกอ้อย และปาล์มน้ำมัน ทำให้หน้าดินของพื้นที่การเกษตรเหล่านี้ ถูกน้ำพัดพาเอาอินทรียสารที่จำเป็นสำหรับพืชออกไป และเกิดดินถล่ม ต่างจากบริเวณพื้นที่ที่มีป่าปกคลุม สามารถลดการสูญเสีย
หน้าดิน และลดการเกิดดินถล่ม เนื่องจากมีรากต้นไม้ยึดบริเวณผิวดิน ไม่ทำให้เกิดการพังทะลายของหน้าดิน
5. มลพิษทางอากาศ

ช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 การพัฒนาทางเศรษฐกิจของเอเชียเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เอเซียกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันเศรษฐกิจของเอเซียเติบโตเกือบร้อยละ 40
ของเศรษฐกิจโลก หรือเติบโตร้อยละ 6 ต่อปี ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งหลายประเทศในเอเชียมีประชากรอาศัยอยู่ในมหานครจำนวนหลายแห่ง ส่งผลให้มีการใช้พลังงาน น้ำมัน และถ่านหินเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ประเทศอินเดียและปากีสถานได้พัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดด ทำให้เมืองขนาดใหญ่เหล่านี้มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในเมืองเหล่านี้หลายล้านคน เช่น ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ร้อยละ 91 ของประชากรในปัจจุบันได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด
เห็นได้ว่า ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่โลกมีคุณภาพอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตพลังงาน ขาดแคลนเงินทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดและป้องกันมลพิษทางอากาศ อีกทั้งกฎหมายและนโยบายเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศที่ปล่อยจากยานพาหนะไม่เข้มแข็ง เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ยกตัวอย่าง เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกจำนวนสิบแห่ง พบว่าอยู่ในประเทศอินเดียหกแห่ง โดยมีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เฉลี่ยรายปีเท่ากับ 106.2 ppm. มลพิษทางอากาศจึงกลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวอินเดีย อีกทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจของอินเดียราว 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อปี โดยสาเหตุของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เกิดขึ้นในเมือง ร้อยละ 20-35 มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์สันดาป
จากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น บางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นห่างจากประเทศของเรามาก แต่ได้ส่งผลกระทบต่อทุกพื้นที่ในโลก เช่น การใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ไมโครพลาสติกในทะเลจากการทิ้งพลาสติกลงสู่ทะเล และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ดังนั้น การใช้พลังงาน สินค้าและบริการในชีวิตประจำวันของทุกคน ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้เกิดสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ดีขึ้นหรือแย่ลงไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับความระมัดระวัง และเอาใจใส่ในการลดการบริโภคทรัพยากร ตั้งแต่การเดินทาง การใช้พลังงาน และการทิ้งของเสียของทุก ๆ คน แต่การแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาว ควรมีกฎระเบียบ และนโยบายที่ทำให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จึงจะส่งผลให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมระยะต่อไปดีขึ้น ทั้งนี้ การสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมสำคัญเรื่องอื่น จะได้นำเสนอในครั้งถัดไป อาทิ ขยะอาหาร น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ภาวะน้ำทะเลเป็นกรด ความไม่มั่นคงของน้ำและอาหาร และการทำประมงเกินขนาด เป็นต้น
อ้างอิง
Deena Robinson (2023), 15 Biggest Environmental Problems of 2023, updated September 16, 2023 retrieved from https://earth.org/the-biggest-environmental-problems-of-our-lifetime/
Martin Igini (2022), Air Pollution: Have we reached the point of no return?, updated October 23, 2022 retrieved from https://earth.org/history-of-air-pollution/
บทความโดย นายฉัตรชัย อินต๊ะทา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม