รังผึ้งล่มสลาย: วิกฤตการลดลงของประชากรผึ้ง
ผึ้ง แมลงตัวเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้ามไป แต่แท้จริงแล้วมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศของโลก ผึ้งเป็นผู้ช่วยผสมเกสรหลักของพืชดอกนานาชนิด ทำให้พืชสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ หากขาดผึ้งไปอาจส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศและมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ สารเคมี ยาฆ่าแมลง การถูกรุกรานจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว (monoculture) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรผึ้งทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “รังผึ้งล่มสลาย” หรือ Colony Collapse Disorder
ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย หรือ Colony Collapse Disorder (CCD) เป็นปรากฏการณ์ที่ผึ้งงานในรังหายไปอย่างฉับพลัน โดยไม่ทิ้งร่องรอยที่ชัดเจน เช่น ตัวอ่อนหรืออาหาร ทำให้รังผึ้งเหลือเพียงผึ้งนางพญาและตัวอ่อนเล็กน้อย ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรทั่วโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากผึ้งมีบทบาทสำคัญในการผสมเกสรพืชผลทางการเกษตร การผสมเกสร (pollination) เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ต่อไปได้ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารเป็นอย่างมาก พืชพรรณทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 90 ต้องอาศัยการผสมเกสรจากแมลงและสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพื่อขยายพันธุ์ และพืชอาหารมากกว่าร้อยละ 75 ของพืชพรรณของโลกจำเป็นต้องอาศัยการผสมเกสรจากผึ้ง
ในโลกของเรามีผึ้งมากกว่า 20,000 ชนิดทั่วโลกซึ่งมีความหลากหลายของสายพันธุ์และรูปแบบการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้ว ผึ้งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักตามลักษณะการใช้ชีวิต คือ ผึ้งสังคม (Social Bees) และ ผึ้งโดดเดี่ยว (Solitary Bees)
– ผึ้งสังคม (Social Bees) เป็นผึ้งที่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในรัง มีการแบ่งวรรณะและหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน วรรณะหลักๆ ของผึ้งสังคม ได้แก่ (1) นางพญาผึ้ง มีหน้าที่วางไข่เพื่อขยายพันธุ์ (2) ผึ้งงาน เป็นผึ้งตัวเมียที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ มีหน้าที่ทำงานต่าง ๆ ในรัง เช่น หาอาหาร สร้างรัง เลี้ยงดูตัวอ่อน และปกป้องรัง และ (3) ผึ้งตัวผู้ มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งเท่านั้น ตัวอย่างของผึ้งสังคม เช่น ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera), ผึ้งมิ้ม (Bombus spp.) เป็นต้น
– ผึ้งโดดเดี่ยว (Solitary Bees) เป็นผึ้งที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ไม่ได้อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่เหมือนผึ้งสังคม ผึ้งโดดเดี่ยวแต่ละตัวจะสร้างรังของตัวเองเพื่อวางไข่และเลี้ยงดูตัวอ่อน ตัวอย่างของผึ้งโดดเดี่ยว เช่น ผึ้งป่า, ผึ้งช่างไม้ เป็นต้น
ปัญหาการลดลงของประชากรผึ้งทั่วโลกกำลังเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากผึ้งมีบทบาทสำคัญในการผสมเกสรพืช ซึ่งส่งผลต่อการผลิตอาหารของมนุษย์โดยตรง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลดลงของประชากรผึ้งสามารถเห็นได้ชัดเจนจากการลดลงของปริมาณการผลิตน้ำผึ้งและผลผลิตทางการเกษตรในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกน้ำผึ้งรายใหญ่ของโลก แต่กำลังเผชิญกับปัญหาการลดลงของจำนวนรังผึ้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำผึ้งรวมทั้งปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร เช่น อัลมอนด์ สตรอเบอร์รี และแอปเปิล ที่ต้องอาศัยการผสมเกสรจากผึ้ง
ในขณะเดียวกัน ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ก็ประสบปัญหาการลดลงของประชากรผึ้งเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoids) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรผึ้งลดลงทั่วโลก สารเคมีเหล่านี้จะเข้าไปรบกวนระบบประสาทส่วนกลางของผึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตัวรับอะเซทิลโคลีน (acetylcholine receptor) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณประสาท เมื่อผึ้งสัมผัสกับสารนีโอนิโคตินอยด์ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรงกับสารเคมี หรือการกินเกสรดอกไม้หรือน้ำหวานที่ปนเปื้อนสารเคมี สารนีโอนิโคตินอยด์จะเข้าสู่ร่างกายของผึ้งและไปจับกับตัวรับอะเซทิลโคลีน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทของผึ้ง ส่งผลให้ผึ้งเกิดอาการสับสน มึนงง เป็นอัมพาตและตายในที่สุด

สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ประชากรผึ้งลดจำนวนลง จากการศึกษา พบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นปัจจัยหลักทำให้ชนิดพันธุ์และประชากรแมลงผสมเกสรในแถบเขตร้อนในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล และฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศในแถบแอฟริกาลดลงกว่าร้อยละ 61 ส่งผลให้พืชในเขตร้อน โดยเฉพาะกาแฟและโกโก้ มีผลผลิตลดลง
ผึ้งไม่ได้เป็นเพียงแค่แมลงตัวเล็ก ๆ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาระบบนิเวศ การลดลงของประชากรผึ้งเป็นสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญว่าระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์กำลังเผชิญกับความเสี่ยง เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผึ้ง เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารในอนาคตด้วยการลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อผึ้ง สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และสร้างความตระหนักให้กับสังคมถึงความสำคัญของผึ้ง
บทความโดย นางสาวอัฏฐารจ ชาวชน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
Science Alert, By 2050, Most of World’s Best Coffee Growing Areas Won’t Be Viable Any More https://www.sciencealert.com/world-s-best-places-for-coffee-gone-by-2050?fbclid=IwY2xjawH_-TtleHRuA2FlbQIxMAABHZga-RSQvLZwsA2bK4ThRwKfGwsgS8Gv0JUwEfoekaFZFUOG1zzZwjqWpw_aem_Id5bF09dkJWcK82an-H0oA
Springnews, เมื่อแมลงผสมเกสรเขตร้อนหาย กาแฟและโกโก้จะกลายเป็นของหายาก เข้าถึงจาก https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/844336
Springnews, แคลิฟอร์เนีย เตรียมสั่งห้ามใช้ยาฆ่าแมลงที่มีพิษอันตรายต่อผึ้งท้องถิ่น เข้าถึงจาก https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/844476
กรุงเทพธุรกิจ, ‘ผึ้ง’ ทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง กระทบความมั่นคงทางอาหาร เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’ https://www.bangkokbiznews.com/environment/1119114