“รองนายก ประเสริฐ” เดินหน้าพัฒนาโครงการในกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ควบคู่การอนุรักษ์ ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ใหม่ของเมือง

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางฉฏาธร สาอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นกรรมการนายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ 1. บัญชีรายชื่ออาคารที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์ใน กรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน 121 อาคาร เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเครื่องมือทางการเงิน ด้านมาตรการส่งเสริมด้านภาษี (tax incentive) 2. การปรับปรุงสะพานระพีพัฒนภาคและสะพานบพิตรพิมุข บริเวณคลองโอ่งอ่าง โดยการปรับปรุงยกระดับท้องสะพานสูงขึ้นเป็น +2.0 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ 3. โครงการจัดตั้งหอเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์กฎหมายไทย พิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุยกกระบัตร โดยปรับปรุงอาคารสำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารหลักเมือง) ให้เหมาะสมแก่การเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมและพื้นที่สาธารณะใหม่ของเมือง 4. การออกแบบทางขึ้น – ลง สถานีรถไฟฟ้าและปล่องระบายอากาศ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาเษก) สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า และสัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์  โดยคำนึงถึงคุณค่าความสำคัญประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาเป็นแนวคิดหลักการออกแบบ ที่รักษารูปแบบและอัตลักษณ์ของพื้นที่ และ 5. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยพิจารณาในส่วนสถานีรถไฟฟ้า ทางขึ้น – ลง และปล่องระบายอากาศ ที่ขอเปลี่ยนแปลง บริเวณสถานีศิริราช สถานีสนามหลวง และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเห็นชอบตำแหน่งทางขึ้น – ลง และปล่องระบายอากาศบริเวณสถานีหลานหลวง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำชับขอให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน ผลกระทบต่อการจราจร และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อาจมีผลกระทบต่อโบราณสถาน ตลอดจนดำเนินการตามแนวทางลดผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม โบราณสถาน และหลักฐานทางโบราณคดี และรายงานผลการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งออกแบบและสื่อความหมายให้สอดคล้องกับบริบทและคำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพื้นที่

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เร่งให้มีการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยผลักดันให้มีแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า และการทบทวนแผนปฏิบัติการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเมือง รวมทั้ง เห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รายเมือง (เมืองเก่าพิษณุโลก เมืองเก่าสกลนคร เมืองเก่าแม่ฮ่องสอน เมืองเก่าน่าน เมืองเก่าบุรีรัมย์ และเมืองเก่าตรัง)

จัดทำและเผยแพร่โดย กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy