มลพิษอากาศ ปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญ

เวปไซต์ Earth.Org ได้รวบรวมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต้องเผชิญใน ปี 2568 ไว้ 15 ประเด็น ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ “มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)” ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกประมาณ 4.2 ถึง 7 ล้านคนทุกปี และผู้คน 9 ใน 10 คนหายใจเอาอากาศที่มีมลพิษระดับสูงเข้าไป สาเหตุของมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่มาจากแหล่งอุตสาหกรรม การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า การก่อสร้าง การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การเผาไหม้ชีวมวล การเกษตรกรรม และคุณภาพอากาศที่ไม่ดีเนื่องจากพายุฝุ่น โดยรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2567 (World Air Quality Report 2024) ได้รวบรวมข้อมูลคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัด 40,000 แห่ง จาก 138 ประเทศ พบว่า 126 ประเทศมีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประเทศที่ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐชาด (91.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (78.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน (73.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (58.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และสาธารณรัฐอินเดีย (50.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ
มลพิษทางอากาศมีการแพร่กระจายและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนที่สัมผัส โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนี้
- ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง นอกจากนี้ คนที่สัมผัสกับโอโซน (O3) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 PM5 จะก่อให้เกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะเพิ่มขึ้น
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่สัมผัสมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 PM5 โอโซน (O3) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) จะเกิดผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดแดงแข็ง
- มะเร็ง จากการศึกษา พบว่าการสัมผัสมลพิษอากาศภายนอกอาคารมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอด
- ระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของทารกในครรภ์ การสัมผัสมลพิษทางอากาศมีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติต่อระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของทารกในครรภ์ โดยความผิดปกติที่พบ เช่น น้ำหนักทารกแรกคลอดต่ำ ความผิดปกติของหัวใจ
- ระบบประสาท การสัมผัสมลพิษในอากาศภายนอกอาคารมีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทและปัญหาทางจิต โดยการศึกษาของประเทศอิตาลี พบว่า คนที่สัมผัสก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในปริมาณที่สูงมีแนวโน้มเกิดอาการปวดศรีษะบ่อยขึ้น
การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
ประเทศจีนกำหนดมาตรการเพื่อลดระดับ PM2.5 ดังนี้ (1) การปฏิรูปพลังงาน กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ และลดการใช้พลังงานถ่านหิน (2) การควบคุมมลพิษอุตสาหกรรม มีการตรวจสอบและลงโทษโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน (3) การปฏิวัติระบบขนส่ง โดยส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้า จำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานไฮโดรเจน (4) การใช้เทคโนโลยีใหม่ ในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม (5) การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ และ (6) การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกป่าและสร้างสวนสาธารณะ
ประเทศอังกฤษกำหนดนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นโดยกำหนดเขตพื้นที่ปลอดคาร์บอน หรือ Ultra Low Emission Zone (ULEZ) ในเขตเซ็นทรัลลอนดอน และเก็บค่าธรรมเนียมรถที่วิ่งเข้าเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะที่ไม่ผ่านมาตรฐานการปล่อยมลพิษหรือรถเก่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการเงินอุดหนุนคนที่จะเปลี่ยนรถเก่าที่ก่อให้เกิดมลพิษเป็นรถคันใหม่ และการขยายเขตพื้นที่ปลอดคาร์บอนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของกรุงลอนดอน
ประเทศเกาหลีใต้ กำหนดนโยบายการยกเลิกการใช้รถเมล์แบบดีเซลทั้งหมด โดยเริ่มจากรถโดยสารระหว่างเมือง กำหนดเขตห้ามขับขี่รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษสูง ซึ่งจำแนกรถตามระดับการก่อมลพิษ โดยพิจารณาจากปริมาณการปล่อยมลพิษต่างๆ ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และสารอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ โดย ระดับ 1 คือรถยนต์ ที่ปล่อยมลพิษต่ำที่สุด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ระดับ 2-4 คือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับกลาง และ ระดับ 5 คือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษสูงที่สุด ซึ่งจะถูกกำหนดให้วิ่งได้เฉพาะบางพื้นที่ บางเวลา และมีค่าปรับ อีกทั้งยังกำหนดนโยบายสนับสนุนเงินให้คนที่จะเปลี่ยนรถใหม่ และผู้ที่ทำลายรถเก่าแต่ยังไม่สามารถซื้อรถใหม่ก็จะได้รับการสนับสนุนในรูปแบบของ Climate Card ซึ่งเป็นบัตรใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรีในช่วงเวลาหนึ่ง และสามารถใช้รถจักรยานสาธารณะฟรีแบบไม่จำกัด นอกจากนี้ ยังมีระบบ Emergency Alert เมื่อปริมาณฝุ่นละอองในอากาศสูงเกินค่าปกติ จะมีข้อความส่งไปทางโทรศัพท์แจ้งให้ประชาชนเตรียมตัว ควบคู่กับเสาบอกระดับฝุ่นที่จะมีตัวเลขขึ้นตามสถานีรถไฟและป้ายรถเมล์ เพื่อให้รู้ว่าวันนี้สภาพอากาศเป็นอย่างไร
ประเทศไทยจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 – 2570 เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก (1) มุ่งจัดการอากาศสะอาดเพื่อคนไทย ด้วยมาตราการเข้มข้น อาทิ การกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษ (Low Emission Zone) ค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่การจราจรหนาแน่น ให้โรงงานใช้เชื้อเพลิง เครื่องจักร และกระบวนการผลิตที่ระบายมลพิษต่ำ (2) การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการระบายอากาศและการสะสมมลพิษ (3) การจัดทำแผนจัดการป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชุมชนเพื่ออากาศสะอาด (4) การปรับโครงสร้างการผลิตพืชลดความเสี่ยงการเผา (Zoning เขตเกษตรเศรษฐกิจ) กำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายรับเฉพาะอ้อยสดร้อยละ 100 การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับควบคุมการเผา และ (5) การออกแนวทางลด/ระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา
มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ที่ทุกคนต้องเผชิญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การกำหนดนโยบาย แผน มาตรการในการจัดการแก้ไขปัญหาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้มลพิษทางอากาศลดลงหรือคุณภาพอากาศดีขึ้นได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย แผน และมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้พวกเราได้มีอากาศที่บริสุทธิ์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บทความโดย นางสาวพรพรรณ ปัญญายงค์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)
เอกสารอ้างอิง
กรมอนามัย. (2564). รายงานการศึกษาผลกระทบและคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศและการพัฒนาดัชนีสุขภาพอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศของประเทศไทย.
ไทยพีบีเอสออนไลน์ (2568). เปิดโมเดลแก้ฝุ่น PM2.5 แต่ละประเทศทำอะไรบ้าง ? สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568. จากเว็บไซต์: https://www.thaipbs.or.th/now/content/2271.
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2568). อากาศสะอาดในจีน : ความพยายามที่ไม่ธรรมดาเพื่อหายใจเต็มปอด. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568. จากเว็บไซต์: https://sdgs.nesdc.go.th/อากาศสะอาดในจีน-ความพย/.
EARTH.ORG. (2025). 15 Biggest Environmental Problems of 2025. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568. จากเว็บไซต์: https://earth.org/the-biggest-environmental-problems-of-our-lifetime/.
IQAir. (2025). 2024 World Air Quality Report. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568. จากเว็บไซต์: https://www.iqair.com/us/world-air-quality-report.