ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง “วิกฤติ” หรือ “โอกาส” ?

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2565). https://www.prachachat.net/property/news-1005353
ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยเห็นที่ดินรกร้างเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อัตราภาษีจะคำนวณแตกต่างกันตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน หากเป็นที่ดินรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จะถูกคิดอัตราภาษีมากกว่าประเภทอื่น แต่หากใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นเพื่อการเกษตรกรรมจะได้รับการยกเว้นภาษีหรือจ่ายน้อยกว่า
หากแต่การบังคับใช้ภาษีที่ดินฯ ในพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร หลายกรณีถูกมองว่าเป็น “วิกฤติ” เนื่องจากพื้นที่รกร้างในกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มเปลี่ยนไปปลูกต้นกล้วย
หรือต้นมะนาว โดยปลูกแบบชั่วคราว เช่น ปลูกในกระถาง โดยไม่ได้รับการดูแลเหมือนพื้นที่เกษตรทั่วไป เพราะนายทุนเจ้าของที่ดินอยากจะจ่ายภาษีน้อยลง และรอเวลาใช้พัฒนาในอนาคต
ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากขัดกับวัตถุประสงค์ของภาษีที่ดินฯ ที่ต้องการให้ที่ดินมีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาบริบทในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร ภาษีที่ดินฯ อาจมองเป็น “โอกาส” ได้เช่นกัน อาทิ พื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก (เขตลาดกระบังฝั่งตะวันออก เขตหนองจอก เป็นต้น) ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นบ้านจัดสรรแล้วบางส่วนแต่ยังมีที่รกร้างอยู่มาก แต่กระแสการพัฒนาบ้านจัดสรรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบัน ลดลงมากกว่า 3 เท่า
เมื่อเทียบกับสมัยอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู ช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 (วิเคราะห์จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย) ดังนั้น ในมุมผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาจต้องรอกระแสการพัฒนา
ในระยะยาวจึงจะคุ้มการลงทุน ในการนี้ จึงเป็นโอกาสเหมาะของนักวางแผนเมืองที่จะพัฒนาพื้นที่เกษตรชานเมืองเป็นแบบยั่งยืน มากกว่าปล่อยไว้เป็นเกษตรแบบขอไปที
ซึ่งโจทย์สำคัญคือจะออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อส่งเสริมพื้นที่เกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผู้เขียนได้เคยศึกษาตัวอย่างพื้นที่รกร้างที่เปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตร หลังปี พ.ศ. 2562 บริเวณพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าของที่ดินหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบตัวอย่างทั้งการพัฒนาแบบขอไปทีเพื่อเลี่ยงภาษี และยังพบรูปแบบการพัฒนา
ที่น่าสนใจ ได้แก่ การนำพื้นที่รกร้างเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรปลอดสารพิษ ร่วมกับการเปิดร้านอาหารในรูปแบบ farm-to-table โดยวัตถุดิบที่เก็บได้จากแปลงเกษตรจะนำมาเสิร์ฟที่ร้านอาหาร นอกจากนี้ ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมฟาร์มด้วย ซึ่งกรณีหลังเป็นตัวอย่างการพัฒนาซึ่งอาจต่อยอดต่อไปได้ เนื่องจากมีช่องทางการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์การเกษตรหลากหลาย
ช่องทาง ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นที่สีเขียวที่ผลิตอาหาร และยังเป็นแหล่งนันทนาการให้กับคนเมืองในฐานะแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้จะยังมีตัวอย่างของพื้นที่เกษตรแบบยั่งยืนไม่มากนัก แต่ก็เห็นได้ว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจไม่ใช่ “วิกฤติ” อย่างที่หลายคนคิดเสมอไป แต่มีศักยภาพพัฒนาเป็น “โอกาส” ได้
แต่ต้องพิจารณาตามบริบทของพื้นที่ ควบคู่การส่งเสริมนโยบายที่ดีมีประสิทธิภาพ
บทความโดย นายหฤษิฎ วงษ์ดารา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ (กชพ.)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ KM for Journey to be the writers