พิธีมอบใบประกาศ รับรองการขึ้นทะเบียน แม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ แห่งที่ ๑๕ ของประเทศไทย และแห่งที่ ๒,๔๒๐ ของโลก
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ โรงแรม I Hotel อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เลขาธิการ สผ.) เป็นประธานในพิธีมอบใบประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนแม่น้ำสงครามตอนล่าง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ แห่งที่ ๑๕ ของประเทศไทย และแห่งที่ ๒,๔๒๐ ของโลกโดยมี นายสมชาย ชำนิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับ และ คุณวรนันท์ สุทธปรีดา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด ธนาคาร HSBC ประเทศไทย กล่าวถึงการสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (องค์กร WWF Thailand) ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง และการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม มีความสำคัญสูงในเชิงระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นเอกลักษณ์ที่มีความหายาก ได้แก่ ระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งพบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย ๑๒๔ ชนิด พันธุ์พืช ๒๐๘ ชนิด รวมทั้ง มีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ในการนี้ ดร.รวีวรรณฯ ได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “นโยบาย แนวทาง การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย” นายยรรยง ศรีเจริญ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด องค์กร WWF ประเทศไทย นำเสนอสรุปผลการดำเนินงานฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเสนอพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นแรมซาร์ไซต์ ต่อจากนั้น เลขาธิการ สผ. ได้มอบใบประกาศรับรองพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ได้รับการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ Ramsar Site แห่งที่ ๑๕ ของประเทศไทย ให้แก่ นายสมชาย ชำนิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และมอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่ คุณวรนันท์ สุทธปรีดา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด ธนาคาร HSBC ประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำสงครามตอนล่าง และประชาชนผู้สนใจ จำนวนกว่า ๑๐๐ คน



จัดทำและเผยแพร่โดย : กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม