บิ๊กป้อม เดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเกษตรกรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 10.45 น.ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานกรรมการคนที่ 1 พร้อมด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยด้านการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) วงเงินประมาณ 630 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) โดยมีกรมชลประทาน และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะระบบชลประทานและการระบายน้ำที่ผสานแนวคิดการแก้ไขปัญหาโดยใช้แนวทางธรรมชาติ (Nature based Solution: NbS) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและน่าน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้ง ทำให้เกษตรกร ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อย ได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 4 (Fourth Biennial Update Report: BUR4) ซึ่งจะจัดส่งต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อสื่อสารต่อประชาคมโลกถึงสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน รวมถึงความต้องการการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพ เทคโนโลยี และการเงิน ที่ประชุมฯ มีมติรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 18 พฤศจิกายน 2565 ณ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 195 ประเทศ ผลลัพธ์ของ COP 27 ที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งกลไกทางการเงินและกลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อลดความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังรับทราบการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ เพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065



จัดทำและเผยแพร่โดย : กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)