“แผนแม่บท” ทิศทางของการอนุรักษ์และการพัฒนาเมืองเก่า

กระบวนการสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมของประเทศ ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ใช้เพื่อเป็นกลไกดำเนินการด้านการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่าให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง โดยผลักดันให้ชุมชนเก่าแต่ละแห่ง มี “แผนแม่บท” ที่เหมาะสมและยืดหยุ่นกับแต่ละพื้น
การขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่าอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รายเมือง ซึ่งประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ จากทุกระดับ ทั้งองค์กรภาครัฐ ชุมชน และเอกชน เพื่อร่วมกันสร้างกลไกหลัก ในการขับเคลื่อนดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในพื้นที่ การดำเนินการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าโดยกระบวนการมีส่วนร่วมและการยอมรับของจังหวัดและประชาชนในพื้นที่ ดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทของเมืองเก่าแต่ละเมือง จำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า ตามหลักการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมในระดับสากล
การจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าของแต่ละพื้นที่ ได้มาจากประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง ผสานแนวทางการบริหารการพัฒนาให้ครอบคลุมในทุกมิติ สร้างพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ หรือข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลขั้นต้นที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลโดยตรง เช่น ข้อมูลที่ได้มาจากการตอบแบบสอบถามการสำรวจ การสัมภาษณ์ การสังเกต ทั้งทางกายภาพและสภาพการณ์ปัจจุบันของพื้นที่มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์ และนำมาตรวจสอบร่วมกับข้อมูลทุติยภูมิ หรือข้อมูลที่ได้จากแหล่งที่รวบรวมข้อมูลไว้แล้ว โดยบุคคลหรือหน่วยงานได้ทำการเก็บรวบรวมหรือเรียบเรียงไว้เป็นแหล่งอ้างอิง
ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์เมืองเก่าแต่ละแห่ง จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลรอบด้าน ทั้ง ลักษณะทั่วไปทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศของพื้นที่ ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ข้อมูลด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงต้องมีข้อมูลโครงการในพื้นที่ที่มีผลต่อเมืองเก่า ภูมิสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม ข้อมูลระบบสาธารณูปโภค เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือแม้แต่รูปแบบของภัยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่
ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะถูกนำมาทบทวนด้วยการประชุมกลุ่ม โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ มาช่วยวิเคราะห์ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของพื้นที่ ก่อนนำข้อมูลมากำหนดทิศทางของการอนุรักษ์ และการพัฒนาเมืองเก่าแต่ละแห่ง
ทั้งนี้ การจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าแต่ละแห่ง มีวัตถุประสงค์หลักคือ
1. เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันโดยศึกษาทบทวนกลุ่มสังคม ชุมชน และกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า
2. เพื่อศึกษา สำรวจ และระบุอาคาร สิ่งปลูกสร้างในเมืองเก่า แหล่ง หรือบริเวณ รวมทั้งกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของเมืองเก่าโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ในท้องถิ่น
3. เพื่อจัดระบบแหล่งมรดกวัฒนธรรมและบันทึกให้เป็นเอกสารท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิงร่วมกัน ทั้งการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า
4. เพื่อจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าที่สอดคล้องกับคุณค่าความสำคัญของเมืองเก่า
แผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์ที่ได้ จะถูกนำไปเป็นแนวทางในการจัดการ เมืองเก่า ซึ่งเป็นเมืองที่มีลักษณะพิเศษ มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีรูปแบบผสมผสานของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นหรือมีลักษณะของรูปแบบวิวัฒนาการทางสังคมที่สืบต่อมาจากอดีต จนกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถสร้างให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ให้คงอยู่อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างกลมกลืน รักษาความสมดุลของพื้นที่อย่างเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ / สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม