ดูแลมรดกโลก สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อมชุมชน ด้วยกลไกความยั่งยืน

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานประสานงานกลางของอนุสัญญาว่าด้วย การคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการคุ้มครอง ป้องกัน และอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก รวมถึงประสาน ติดตาม และให้คำแนะนำในการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก และนำเสนอเป็นมรดกโลก ต่อไป  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการมรดกโลก ในวาระปี พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๖  โดยการคัดเลือกดังกล่าว ถือเป็นการเพิ่มบทบาทและภารกิจครั้งสำคัญในเวทีโลก

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๔ (ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔) ที่ประชุม มีมติขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ ๑๐ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยมีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก  ปัจจุบัน สผ. อยู่ระหว่างการผลักดันแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก

          นอกจากการมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกด้านมรดกโลกแล้ว  สผ. ยังมุ่งเน้นงานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชน และพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่าย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ ๑๑ ซึ่งมี เป้าหมาย ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัยมีภูมิต้านทาน และยั่งยืน

ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จที่มาจากความร่วมมือกันเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือ การส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์น้ำตกธารารักษ์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยการมีส่วนร่วม ซึ่งมีหลายภาคส่วน ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น กล่าวคือมี ๑๓ กระทรวง  ๔๔ หน่วยงาน  ๕ องค์การบริหารส่วนตำบล  รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น อีก ๑๓ หมู่บ้าน

โดยการดำเนินงานดังกล่าว ได้รับความร่วมมือทั้งจาก ประชาชน พระสงฆ์ ครู และนักเรียน ในการร่วมกันจัดทำผังและแผนการบริหารจัดการพื้นที่ โดยได้กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในบริบทของพื้นที่แบ่งออกเป็น ๓ เขตการจัดการ คือ ๑) พื้นที่สงวน (Preservation Area)  ๒) พื้นที่อนุรักษ์ (Conservation Area ) และ ๓) พื้นที่บริการและการจัดการ (Service and Management Area) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการพื้นที่แหล่งธรรมชาติที่เหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ได้มีการกำหนดแผนการบริหารจัดการพื้นที่ ออกเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการพื้นที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน และด้านการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ พร้อมทั้งมีการระบุหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลา และงบประมาณในการดำเนินงานให้สอดคล้องและเหมาะสม เพื่อให้เป็นรูปธรรมและง่ายในการนำไปปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จและสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติของน้ำตกธารารักษ์ ชุมชนบ้านเจดีย์โคะได้เห็นคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติของท้องถิ่นเป็นที่สำคัญ  ดังนั้นความเป็นหุ้นส่วนร่วมมือระหว่างกันโดยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการจะนำไปสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองเศรษฐกิจชุมชนเกิดความรู้สึกในความเป็นเจ้าของ จึงทำให้เกิดการอนุรักษ์ คุ้มครอง รักษา ฟื้นฟู และสามารถรักษาคุณค่ามรดกทางธรรมชาติที่สำคัญของพื้นถิ่นตนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

ในส่วนของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม  สผ. ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และพัฒนาย่านชุมชนเก่าของประเทศไทย  เนื่องจากย่านชุมชนเก่า เป็นจุดก่อกำเนิดของการตั้งถิ่นฐาน หลอมรวมครบทุกองค์ประกอบ ทั้งเอกลักษณ์ทางกายภาพ อัตลักษณ์ทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญา  และอัตลักษณ์เศรษฐกิจชุมชน ภายใต้บริบทสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางธรรมชาติ   ซึ่งย่านชุมชนเก่า นับเป็นแหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ประเภทหนึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเมือง เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ที่จำต้องดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ควบคู่กับส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล  เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางภูมินิเวศ ภูมิสังคม และภูมิวัฒนธรรม  อีกทั้งเพื่อเป็นฐานสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง

สผ. เล็งเห็นว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขาดกลไกในการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่าอย่างเป็นระบบ จึงได้เริ่มดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น ๒ ช่วงเวลา

ในช่วงเริ่มแรก (๒๕๕๕-๒๕๖๒) เป็นการดำเนินการในระดับนโยบาย เริ่มจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนย่านชุมชนเก่า เบื้องต้นพบว่า มีจำนวน ๖๑๓ ย่าน จนนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ ๑๐  ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้เป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้นำข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อน โดยการจัดทำยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าแห่งชาติขึ้น

จากนั้นจึงเข้าสู่การดำเนินงานในช่วงปัจจุบัน (๒๕๖๓-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่  เนื่องจากปัจจัยแห่งความสำเร็จในการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ประการสำคัญ คือ ให้ภูมิภาคมีบทบาทเป็นแกนกลางในการประสานขับเคลื่อนนโยบายจากส่วนกลาง  และให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการดำเนินการ เพิ่มบทบาทภาคประชาชนในการบริหารจัดการและฟื้นฟูชุมชนตนเอง  เพื่อสร้างความตระหนัก หวงแหน นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ และการอนุรักษ์ ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของตนเอง ด้วยความสมัครใจ เพื่อผลลัพธ์ในด้านความยั่งยืน  โดยเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนไปสู่ระดับพื้นที่ ด้วยรูปแบบพื้นที่นำร่อง พื้นที่ต้นแบบ ใน ๒ พื้นที่ของประเทศไทยตามความพร้อมของภาคส่วนในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และ จังหวัดตรัง ซึ่งผลที่ได้ทำให้เกิดการใช้กลไกในระดับพื้นที่เป็นครั้งแรกของประเทศในการประกาศย่านชุมชนเก่าเป็นมรดกจังหวัด ด้วยกลไกการใช้ประกาศจังหวัด ภายใต้การพิจารณาของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัด  ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการสร้างการรับรู้สาธารณะเรื่องย่านชุมชนเก่าในระดับจังหวัด เป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลในจังหวัดอื่นๆต่อไป   นอกจากนี้ยังได้นำร่องดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าในวิถีใหม่ ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่เรียกว่า “มรดกแพลตฟอร์ม” มาร่วมเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน เพื่อขยายผลในวงกว้างในการหาแหล่งเงินทุน รูปแบบการดำเนินการ และภาคีร่วมดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าไม่เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น โดยได้หยิบยกประเด็นอัตลักษณ์เศรษฐกิจชุมชน เป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อน เพื่อเน้นให้เห็นประโยชน์ในด้านส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอันเนื่องมาจากการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่า แสดงให้เห็นมุมมองในมิติของเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ว่าเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในครั้งนี้ นอกจากบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม แล้ว ยังนับเป็นการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของย่านชุมชนเก่าในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมของจังหวัด ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวด้วยอีกทางหนึ่ง 

การดำเนินการที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบในการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ของ สผ. นั้น  นับเป็นการวางรากฐาน สร้างกระแสความตื่นตัวของชุมชน และได้รับการตอบรับในประเด็นการอนุรักษ์ย่านชุมชนเก่า จากหลายภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม จนมีการต่อยอดในบริบทต่างๆตามหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน ซึ่งก่อประโยชน์ต่อภารกิจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมของ สผ. ทั้งทางตรงและทางอ้อม

จัดทำและเผยแพร่โดย

กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ / สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy