ความสำคัญของ Keystone Species กับความหลากหลายทางชีวภาพ

สมมุติว่าคุณกำลังไปเยี่ยมชมซากเมืองโบราณตีกัล (Tikal) ซึ่งเป็นซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดของอารยธรรมมายา ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศกัวเตมาลา และได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก คุณอาจจะไม่ทราบว่า ลิงยูคาทาน แบล็ค ฮาวเลอร์ (Yucatán black howler) ซึ่งอยู่ที่นั่น ตกอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามการจัดสถานะทางด้านการอนุรักษ์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) แล้วลองทายซิว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลิงชนิดนี้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ทำให้มันอยู่ในสถานะที่ใกล้สูญพันธุ์แบบนี้ การล่า การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการถูกคุกคามจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น … ใช่แล้วครับ สาเหตุหลักมาจากการล่า การตัดไม้ทำลายป่า และการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ส่วนเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ยังไม่ใช่ตัวการสำคัญในกรณีนี้ ลิงยูคาทาน แบล็ค ฮาวเลอร์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เป็นโครงข่ายที่มีชีวิต โยงใยสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศเข้าด้วยกัน ด้วยความสัมพันธ์ที่หลากหลายที่มีการพึ่งพากันและกัน ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้กันว่าระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำไมถึงมีความสำคัญมากกับโลกใบนี้ และพวกเราทุกคน

ลิงยูคาทาน แบล็ค ฮาวเลอร์
ภาพที่ 1 ลิงยูคาทาน แบล็ค ฮาวเลอร์ (Yucatán black howler) ที่มาของภาพ https://neprimateconservancy.org/yucatan-black-howler/

นักวิทยาศาสตร์ประมาณการไว้ว่ามีชนิดพันธุ์ของทั้งพืชและสัตว์ในโลกนี้ ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านชนิดพันธุ์ รวมทั้ง มนุษย์เองด้วย สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกนี้ อยู่ร่วมกันในสิ่งที่เรียกว่า “ระบบนิเวศ” ระบบนิเวศ คือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งสิ่งมีชีวิตอันหลากหลายทั้งพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน ระบบนิเวศอาจจะมีขนาดใหญ่โตมาก เช่น ทะเลทราย หรือมีขนาดเล็ก เช่น บ่อน้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่ของทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น หิน ทราย และความชื้น โดยทุกๆ องค์ประกอบของระบบนิเวศมีความเกี่ยวพันกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เสมือนชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่ต้องมีครบถ้วนถึงจะทำให้เป็นภาพที่สมบูรณ์ได้ แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของระบบนิเวศ ก็อาจจะทำให้องค์ประกอบต่างๆ ในระบบเปลี่ยนแปลงไปได้

โลกของเราประกอบด้วยระบบนิเวศย่อยๆ มากมายเชื่อมโยงกันตั้งแต่มหาสมุทร ป่าพรุ จนไปถึงทะเลทราย ความเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศต่างๆ นั้น บ่อยครั้งจะเกิดขึ้นระหว่างระบบนิเวศที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศของป่าฝนดิบชื้นของป่าอเมซอน สามารถได้รับอิทธิพลจากทะเลทรายซาฮาราซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร จากการที่ฝุ่นละอองถูกพัดพามาโดยลม นำพาธาตุอาหารฟอสฟอรัสมาสู่ป่าอเมซอน โดยในปีหนึ่งๆ ฝุ่นที่ถูกพัดพามาอาจมีปริมาณสูงถึง 22,000 ตัน

หลายพันปีที่มนุษย์อยู่ร่วมกับระบบนิเวศมาอย่างราบรื่น แต่เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้น เราก็เริ่มรุกล้ำธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางทีก็เข้าไปควบคุมระบบนิเวศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปเลย ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และความสมดุลของระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนได้รับความเสียหาย จนในที่สุดก็ทำให้การบริการของระบบนิเวศที่เราจะได้รับสูญสิ้นไป เมื่อเกิดความไม่สมดุลขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพก็หายไป

ลองมาดูตัวอย่างการทดลองของนักสัตววิทยาชื่อ Dr. Robert Paine ซึ่งเป็นผู้คิดประดิษฐ์คำว่า “keystone species” โดยเขาได้ทำการทดลองเมื่อ 50 กว่าปีก่อน บริเวณชายฝั่งของเกาะ Tatoosh ในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า สัตว์ที่เป็นผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศแห่งนี้ก็คือ ดาวทะเลชนิดหนึ่ง (Pisaster starfish) โดยเขาได้ทดลองจับดาวทะเลชนิดนี้ออกไปจากบริเวณที่ควบคุมการทดลอง และพบว่าหอยชนิดหนึ่ง (mussel) เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมันไม่ถูกดาวทะเลกินเป็นอาหาร และหอยชนิดนี้ก็กินสาหร่ายมากขึ้น และในไม่ช้า sea snail และพวกปูต่างๆ ก็ค่อยๆ มีจำนวนและความหลากหลายลดลงไปอย่างมาก เพราะมันไม่สามารถแข่งขันเพื่อแย่งอาหารกับหอย mussel ได้นั่นเอง Dr. Paine จึงสรุปว่า ความหลากหลายของชนิดพันธุ์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับประสิทธิภาพของผู้ล่าที่จะป้องกันไม่ให้ชนิดพันธุ์หนึ่งชนิดพันธุ์ใดผูกขาดทรัพยากรที่สำคัญในระบบนิเวศแต่เพียงผู้เดียว

ดาวทะเล
ภาพที่ 2 Purple sea star (Pisaster ochraceus) ที่มาของภาพ https://natureweb.co/wp-content/uploads/2022/07/ochre-sea-star-768x432.jpg

บทบาทที่สำคัญของ keystone species ที่มีต่อระบบนิเวศ เปรียบได้กับบทบาทของ keystone หรือหินที่เอาไว้ขัดเพื่อรองรับซุ้มประตูหินโค้ง หากหินนี้ถูกทำลายไปเพียงอันเดียว ซุ้มประตูทั้งหมดก็จะต้องพังทลายลงมานั่นเอง แม้ว่า keystone นี้จะไม่ได้รับน้ำหนักหรือรับแรงมากมายมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถขาดหินก้อนนี้ไปได้ ในทำนองเดียวกัน ระบบนิเวศที่มีความสมดุลก็ไม่สามารถขาด keystone species ไปได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าชนิดพันธุ์ที่เป็น keystone species นั้น จะเป็นส่วนน้อยของระบบนิเวศก็ตาม

keystone
ภาพที่ 3 keystone ที่มาของภาพ https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=95023097

เรื่องราวที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร มนุษย์เราก็อยู่ในห่วงโซ่ของความสัมพันธ์ในระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างพืช สัตว์ และมนุษย์ การที่ชนิดพันธุ์หนึ่งชนิดพันธุ์ใดหายไปจากระบบนิเวศ ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุไหน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มลพิษ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย หรือสาเหตุอื่นๆ ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องทำให้ระบบทั้งระบบพังทลายลงไปได้เลย เหมือนอย่างการล้มลงของโดมิโน่เพียงตัวเดียว ก็ทำให้โดมิโน่ทั้งหมดล้มต่อเนื่องลงไปจนหมดสิ้น

พวกเราในฐานะเผ่าพันธุ์มนุษย์ต้องมีความรับผิดชอบที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศอย่างสอดคล้องปรองดอง เพื่อโลกที่สมบูรณ์ของทุกสิ่งมีชีวิต เราจะต้องช่วยกันทำโลกนี้ให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะในระดับรัฐบาล องค์กรต่างๆ หรือในระดับบุคคล

 

แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยให้เจ้าลิงยูคาทาน แบล็ค ฮาวเลอร์ (Yucatán black howler) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ไม่หายไปจากโลกใบนี้ ในฐานะหน่วยงานของรัฐ เราอาจจะช่วยได้ดังนี้

  • กำหนดเขตอนุรักษ์ให้สัตว์ป่าพวกนี้อยู่อาศัย เพื่อจำกัดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
  • คุ้มครองสัตว์เหล่านี้ โดยออกกฎหมายการอนุรักษ์
  • บริหารจัดการเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรของลิงชนิดนี้ โดยการจัดการสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมและช่วยในการขยายพันธุ์
  • ให้การศึกษาแก่ชุมชนท้องถิ่นเพื่อช่วยเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ ป้องกันการสูญเสียจากการบุกรุกป่า และการล่าสัตว์
  • ไม่พัฒนาพื้นที่เข้าไปในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้

แล้วคนธรรมดาอย่างเราๆ หละ จะทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยหยุดการทำลายระบบนิเวศ และช่วยเจ้าลิงที่ใกล้สูญพันธุ์นี้ให้มีประชากรเพิ่มขึ้น

  • ทำกิจกรรมปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านี้
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
  • เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่ผลิตจากแหล่งที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (ไม่มีส่วนในการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า)
  • ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของลิงดังกล่าวทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งเสียสละเวลาและเงินทุนเพื่อการอนุรักษ์
  • รายงานการพบเห็นการกระทำความผิดต่อสัตว์ป่า

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า keystone species มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาโครงสร้างและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ถึงแม้ว่า keystone species จะเป็นส่วนเล็กๆ ในระบบนิเวศก็ตามเมื่อเทียบกับความหลากหลายและขนาดที่ยิ่งใหญ่ของระบบนิเวศที่มันอาศัยอยู่ มันช่วยควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศให้มีความสมดุล และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญหายไปของ keystone species จึงนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศมหาศาล ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างมากจนถึงขั้นทำให้ระบบนิเวศล่มสลายไป จึงมาถึงบทสรุปที่ว่า “Keystone Species นั้น (โครต) สำคัญ ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก”

บทความโดย นายทศพล เพียรธนะกูลชัย นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง

  1. The domino effect — biodiversity loss and why it matters? https://www.unep.org/interactive/domino-effect-biodiversity-loss-why-it-matters/?_ga=2.70834327.649065077.1683560611-1102527540.1682960329
  2. The “Keystone Species” Concept That Transformed Ecology.
    https://daily.jstor.org/how-the-keystone-species-concept-transformed-ecology/

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy