การประชุม คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔
วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ซึ่งมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ
ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางในการดำเนินการจัดทำรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมทางหลวง ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดำเนินการในด้านต่าง ๆ ตามข้อมติคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๔ อาทิ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งมรดกโลก การจัดทำรายงานผลการติดตามผลกระทบจากการดำเนินการภายหลังการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมงและภายหลังการเปิดใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔ รวมทั้ง ขอให้กรมชลประทานชะลอการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่มรดกโลก จนกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์แล้วเสร็จ และได้รับการตรวจสอบโดยศูนย์มรดกโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) เพื่อไม่ให้พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่เสี่ยงต่อการโดนขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตราย นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการจัดทำความร่วมมือกับเมียนมา ในการดำเนินการอนุรักษ์และบริหารจัดการแบบข้ามพรมแดนในพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน แหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของไทยอีกด้วย
รวมทั้ง เห็นชอบการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๖ ที่จะมีขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๖๖ โดยเห็นว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมจะเป็นการสร้างและขยายโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า – ๒๐๑๙(COVID 19) รวมถึงในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับผู้มาเยือนที่จะมีไม่ต่ำกว่า ๒,๓๐๐ คน จากเม็ดเงินหมุนเวียนอันเนื่องมาจากการใช้จ่าย ในด้านต่าง ๆ ทั้งในการเดินทาง ที่พัก การท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งเป็นการส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในการดำเนินการภายใต้กรอบการดำเนินงานของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกตลอดจนจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงการ กิจกรรม และข้อริเริ่มใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดและขยายความร่วมมือในการดำเนินงานและความร่วมมือกับองค์กรและนานาชาติ ต่อไป





จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม