การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับ ห้องประชุมชั้น ๑๗ อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านระบบ VDO Conference โดยมี นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคนที่ ๑ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานคนที่ ๒ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ และ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุม ได้มีการพิจารณารายงาน EIA จำนวน ๘ โครงการ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ตามแผน PDP 2018 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในพื้นที่ EEC และพื้นที่ชายแดนใต้ ได้แก่ ๑) โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน จังหวัดขอนแก่น ๒) โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit: FSRU) พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ๓) โครงการท่าเทียบเรือ FSRU ๔) โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ๕) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก จังหวัดนราธิวาส ๖) โครงการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการ กองบัญชาการกองทัพไทย ๗) โครงการจัดตั้งวัดบ้านห้วยน้ำผัก ที่พักสงฆ์เทิดพระเกียรติสิรินธร จังหวัดเลย และ ๘) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ เจ้าของโครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล มาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งไอน้ำมันเบนซินจากคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรฐานการระบายค่าควันดำจากรถยนต์ใช้งานที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้ง พิจารณารายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนกลาง จำนวน ๙ คณะ และในจังหวัดที่กระจายภารกิจ จำนวน ๑๒ คณะ



จัดทำและเผยแพร่โดย กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม