11 มีนาคม 2568 การประกวดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกยั่งยืนบรรลุรีไซเคิล 100% ปีที่ 73
ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/4463375/
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดตัวการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์บนแนวคิดของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อโลกสีเขียว Eco-Design Sparking Innovation Award ภายใต้ธีมการออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างยั่งยืนบนแนวคิดของนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์เพื่อโลกสีเขียว และคำนึงถึงหลักการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (A Call for Innovation in Design for Recycling and Carbon Footprint Solutions) เพื่อชิงรางวัลใหญ่ไปทริปดูงาน Green Life and Sustainable Taiwan Expo 2025 ที่ไต้หวัน
ทวีชัย เจียรนัยขจร ผู้อำนวยการส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย กองจัดการกากของเสียและสารอันตรายกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนานโยบายสนับสนุนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนในประเทศไทยว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกในที่ประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ครั้งที่ 5 (INC-5) ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนจึงเป็นประเด็นที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาและให้ความสำคัญ โดยการขับเคลื่อนของประเทศไทยตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้วัสดุที่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช้สารเติมแต่งที่อันตรายและขัดขวางการแปรรูปใช้ใหม่ เน้นการใช้ซ้ำ และบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องนำกลับไปแปรรูปใช้ใหม่ได้ทั้งหมด เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน และสอดคล้องกับหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) ที่จะให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในอนาคต
ด้านนายวรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาโครงการ MA-RE-DESIGN กล่าวถึงหลักการที่นำมาใช้ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ครั้งนี้ว่า การออกแบบเพื่อการรีไซเคิล หรือ Design for Recycling (D4R) ช่วยให้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แค่มีโลโก้รีไซเคิลได้ หรือรีไซเคิลได้ในทางทฤษฎี แต่เป็นการส่งเสริมการเก็บรวบรวม คัดแยก และนำไปรีไซเคิลได้จริง ในขณะที่คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือ Carbon Footprint of Products (CFP)
ช่วยแสดงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การใช้เลือกวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนถึงการกำจัดซากหลังใช้งาน การประยุกต์ใช้หลักการ D4R และ CFP ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จึงเป็นแนวทางให้บริษัทสามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่บรรจุภัณฑ์จะถูกนำไปรีไซเคิลจริง