เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ กับ EIA
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้แวะเที่ยวที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มาค่ะ จากจุดจอดรถเดินไปจุดชมวิวสันเขื่อนมีร้านกาแฟ khundan coffee อยู่ด้านซ้ายมือจึงไม่พลาดที่จะอุดหนุนกาแฟมาซักแก้วเพื่อเติมคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย และเพื่อไม่ให้เสียเวลาจึงเดินชมวิวทิวทัศน์บริเวณสันเขื่อนพร้อมดื่มกาแฟไปพลาง เดินไปตามทางเดินริมสันเขื่อนแวะหยุดอ่านป้ายแสดงรายละเอียดประวัติความเป็นมาของเขื่อน อ่านจบจึงคิดตั้งคำถามกับตัวเองว่า เขื่อนในประเทศไทยมีกี่แบบกันนะ และแบบไหนที่ต้องทำ EIA บ้าง…? วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
เขื่อน แบ่งตามการใช้งานได้เป็น เขื่อนเก็บกักน้ำ และเขื่อนระบายน้ำ แต่ถ้าแบ่งตามการก่อสร้าง แบ่งได้เป็น เขื่อนถม (เขื่อนดิน และเขื่อนหินถม) และเขื่อนคอนกรีต
ฝาย คือ อาคารทดน้ำประเภทหนึ่งสร้างขึ้นทางต้นน้ำของลำน้ำธรรมชาติ ทำหน้าที่ทดน้ำที่ไหลมาตามลำน้ำให้มีระดับสูงจนสามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำได้ตามปริมาณที่ต้องการในฤดูกาลเพาะปลูก ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลล้นข้ามสันฝายไป ฝายส่วนใหญ่มีความสูงไม่มากนัก รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู ฝาย มี 2 ชนิด ได้แก่ ฝายคอนกรีต และฝายยาง
อ่างเก็บน้ำ คือทะเลสาบน้ำจืดที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยการก่อสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นอาณาบริเวณ หรือแหล่งที่เก็บกักน้ำฝน และน้ำท่าที่ไหลมาตามน้ำให้ขังรวมกันไว้ เพื่อที่จะสามารถควบคุมการไหลของน้ำในแม่น้ำลำธารเหล่านั้นให้มีปริมาณที่เหมาะสม สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ 1

แล้ว เขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือฝาย แบบใดบ้างที่เข้าข่ายต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนอื่นขอให้ความรู้เกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันติดปากว่า EIA ก่อนนะคะ
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) คือ กระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ผลการศึกษา เรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม2
EIA แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) 2) รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และ 3) รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) โดยโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานฯ เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม3 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งปัจจุบันปี พ.ศ. 2566 อยู่ระหว่างการทบทวนประเภทและขนาดของโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานฯ ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เงื่อนไขในการจัดทำ EIA สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ) มีดังนี้
1. โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม4 ตั้งแต่ 50 ไร่ แต่ไม่ถึง 500 ไร่ ให้ดำเนินการจัดทำ IEE
2. โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม4 ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป หรือโครงการอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม5 ให้จัดทำ EIA
3. โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรกักเก็บน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่กักเก็บน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป หรือโครงการทุกประเภทที่อยู่ในพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 16 ให้จัดทำ EHIA
ทั้ง 3 เงื่อนไขหลักที่อธิบายข้างต้นเป็นเพียงการกำหนดขนาดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทเขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำนะคะ แต่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้มีเฉพาะเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเท่านั้น ยังมีโครงการประตูระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ และการชลประทานซึ่งแต่ละกิจกรรมมีการกำหนดเงื่อนไขแตกต่างกันไป และในปี พ.ศ. 2566 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้ขออธิบายเฉพาะเขื่อนและอ่างเก็บน้ำก่อนนะคะ ถ้าสนใจการกำหนดเงื่อนไขของกิจกรรม โครงการ หรือการดำเนินการอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านได้ที่เว็บไซต์กองประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกองพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สผ. ค่ะ
บทความโดย นางสาววจี ขวัญทองอินทร์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กองประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ KM for Journey to be the writer
เอกสารอ้างอิง
1 เกษม จันทร์เนียม และคณะ, การศึกษางานด้านชลประทานเบื้องต้นด้วยตนเอง, โครงงานวิศวกรรมชลประทาน (kmcenter.rid.go.th)
2 https://eiathailand.onep.go.th/
3 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมิน
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561
4 การกำหนดประเภทและขนาดโครงการของหน่วยงานของรัฐที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537) และกลไกการดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554
5 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
6 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562