15 ธันวาคม 2562 เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เหมืองแร่ผุดทั่วไทย นักวิชาการติงรัฐ ยุทธศาสตร์แร่ สวนกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา : https://greennews.agency/?p=19880

นักวิชาการเตือน ไทยกำลังเดินสวนทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่มีปัญหา เอื้อประโยชน์กลุ่มผู้ประกอบการเหมือง เปิดช่องผุดโครงการเหมืองแร่ทั่วประเทศ จนสร้างปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วทุกภูมิภาค

ในวันที่ 12 ธันวาคม ณ ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรมจากพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินเท้าเป็นระยะเวลา 6 วัน จากชุมชนของตน เพื่อประกาศถึงความเดือดร้อนจากการทำกิจการเหมืองหินในพื้นที่โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชน และเรียกร้องให้มีการปิดเหมือง ถอนประทานบัตรที่ได้มาจากการประชาพิจารณ์ที่มิชอบ

จากคำแถลงของกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ระบุว่า ชุมชนดงมะไฟได้พยายามต่อสู้กับความพยายามเปิดเหมืองหินในพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้านมากว่า 25 ปี โดยระหว่างการต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชน มีชาวบ้านหลายชีวิตต้องถูกฟ้องร้อง คุมขัง หรือแม้กระทั่งถูกลอบสังหาร โดยไม่อาจหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จนถึงบัดนี้ อย่างไรก็ดี แม้เผชิญกับกระแสต้านอย่างแข็งขันจากชาวบ้านในพื้นที่ บริษัทเหมืองหินได้เริ่มเปิดดำเนินการในพื้นที่ และสร้างผลกระทบให้กับชุมชนแล้ว

“เราได้ต่อสู้มาแล้วทั้งในศาลและนอกศาลเพื่อยืนยันอุดมการณ์การอนุรักษ์ป่า แต่หน่วยงานอนุรักษ์ยังอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ป่าไม้ในการทำเหมืองมาจนปัจจุบัน เมื่อป่าถูกทำลายเราจึงเจ็บช้ำน้ำใจ ว่าตนไม่คู่ควรที่จะเก็บรักษาธงที่ล้ำค่านี้ต่อไป (ธงพิทักษ์ป่า รักษาชีวิต ที่ได้รับพระราชทานจากผลงานการอนุรักษ์ป่าไม้ของกลุ่มชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง)” คำแถลงของกลุ่มชาวบ้านระบุ

ความทุกข์ร้อนของชาวบ้านดงมะไฟ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น จากข้อมูลของนักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม สมลักษณ์ หุตานุวัตร ชี้ว่า อีกหลายๆชุมชนทั่วประเทศก็กำลังประสบกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง การสูญเสียฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชนให้กับเหมือง และการข่มขู่คุกคามเมื่อชุมชนลุกขึ้นคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากแนวนโยบายของภาครัฐตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ที่เอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดำเนินการสำรวจ ขอประทานบัตร และเปิดเหมืองได้อย่างเสรี โดยขาดการคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน

“ถึงแม้ว่ายุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่จะมีหลักการที่ดี โดยมุ่งเน้นให้มีการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างยั่งยืน แต่แท้จริงแล้วยุทธศาสตร์ฉบับนี้กลับมีปัญหามากในทางปฏิบัติ เพราะได้มีการให้อำนาจการวางนโยบายการบริหารจัดการแร่กับคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีสภาการเหมืองแร่เป็นหนึ่งในกรรมการ” สมลักษณ์ กล่าว

“ด้วยเหตุนี้ สภาการเหมืองแร่ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบกิจการเหมือง จึงเข้ามามีบทบาทในการวางนโยบายการจัดการแร่เสียเอง เราจึงพบว่านโยบายการจัดการแร่ในขณะนี้เอื้อประโยชน์อย่างมาก ให้ผู้ประกอบการเหมืองมุ่งทำกำไรโดยการกอบโกยทรัพยากรแร่ของชาติ เป็นเหตุให้ประชาฃนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเดือดร้อนอย่างมากจากการถูกแก่งแย่งฐานทรัพยากร ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเหมือง และการข่มขู่คุกคามจากผู้ประกอบการเหมือง เมื่อชุมชนลุกขึ้นต่อต้านโครงการเหมืองในพื้นที่”

 “การตักตวงทรัพยากรแร่อย่างไม่บันยะบันยัง ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย ทั้งภัยต่อสุขภาพประชาชน การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ และการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำและอาหาร ดังนั้นการจะนำทรัพยากรมีค่าที่ใช้แล้วหมดไปเหล่านี้ออกมาใช้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้รัฐบาลไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำทรัพยากรแร่ของชาติขายให้กับต่างชาติ และควรทำแร่เฉพาะชนิดที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงเท่านั้น”

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ในเชิงรุกมากขึ้น โดยทำหน้าที่กำกับดูแลควบคู่กับการสนับสนุนส่งเสริมด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการประกอบการที่ดี ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการให้มีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน โดยเปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ จำนวน 109 ราย ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CSR-DPIM ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและยกระดับการประกอบอุตสาหกรรมแร่ของประเทศ สอดคล้องตามนโยบายการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

“การสร้างมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) ผู้ประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและยกระดับการประกอบการของตน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างการยอมรับการประกอบการ ของอุตสาหกรรมแร่ รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความจำเป็นของการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์จากภาคสังคม ทั้งประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถผลิตและใช้แร่ได้อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความมั่นคงของวัตถุดิบอุตสาหกรรมด้านแร่ในระยะยาวต่อไป”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy
slot online situs slot gacor hari ini daftar istanaslot https://buletin303.com/ https://134.209.107.98:777/ https://188.166.233.138/

https://gangster4d.netlify.app/

gangster4d slot

gangster4d

Skip to content